ขณะที่ภาพรวมปีหน้าเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นและการตั้งเป้าสูงไว้ก่อนน่าจะเป็นผลดี ส่วนการส่งออกในปีนี้ ไม่ได้ประเมินตัวเลขที่ชัดเจน
"ส่งออกไม่ถือว่าเป้าสูงไปมากหรอก ให้ดูที่ปีนี้ ช่วงต้นปีว่าการส่งออกเท่าไหร่ และเมื่อดูจากเศรษฐกิจปีหน้า มีการประเมินว่าจะอยู่ที่ 3.6% และกระทรวงพาณิชย์ตั้งใจจะวิ่งแข่ง ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ตั้งสูงไว้ก่อน"นยสมคิด กล่าว
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่ากระทรวงพาณิชย์จะมีแผนงานที่ดี และการทำงานของรัฐบาลก็ไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง ซึ่งจากการหารือร่วมกับภาคเอกชนเมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.) ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันในหลายๆด้าน หนึ่งในนั้นคือเคณะกรรมการดูเรื่องการส่งออก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้นำในการเดินหน้าเรื่องนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุม พกค.ยังได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดในการศึกษาเรื่องของ TPP ภายใน 1 ปี โดยมอบหมายให้นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์เป็นประธาน ซึ่งระหว่างนี้จะมีการพบปะพูดคุยกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบที่สุด
นอกจากนี้ ที่ประชุม พกค. มีแนวทางจะสนับสนุนให้ไทยเป็น Hub ของอัญมณีในปีหน้า ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง โดยเชื่อว่า Hub อัญมณีจะมีมูลค่านับแสนล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปดูเรื่องมาตรการทางภาษี คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 เดือน ก่อนที่กระทรวงพาณิชย์จะรับไปดำเนินการต่อ
ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในการประชุมพกค. ในครั้งนี้ได้มีการพิจารณายุทธศาสตร์ในการผลักดันการส่งออกปี 59 ซึ่งมี 7 ยุทธศาสตร์สำคัญ ยุทธศาสตร์แรกคือ การเปิดประตูการค้าและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความตกลง TPP, RCEP, EU และ ASEAN, ยุทธศาสตร์ที่สอง ได้แก่ การเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต, ยุทธศาสตร์ที่สาม ได้แก่ การส่งเสริมการค้าชายแดน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน
ยุทธศาสตร์ที่สี่คือ การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจและลงทุนในต่างประเทศ, ยุทธศาสตร์ที่ห้าคือ การปรับโครงสร้างการค้าสู่การค้าบริการ เพื่อเป็นจักรกลใหม่ในการขับเคลื่อนการค้า โดยมีธุรกิจบริการที่ให้ความสำคัญ 6 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ธุรกิจบันเทิงและคอนเทนต์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการต้อนรับ และธุรกิจบริการวิชาชีพ
ยุทธศาสตร์ที่หกคือ การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมการส่งออก
นอกจากนี้ได้มีการหยิบยกประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาของคลัสเตอร์อัญมณีและเครื่องประดับ คลัสเตอร์ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ และคลัสเตอร์ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หากปัญหาอุปสรรคได้รับการแก้ไข จะสามารถผลักดันให้เกิดรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ ในปี 2557 มีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นลำดับที่ 4 สร้างรายได้ 10,080 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 324,155 ล้านบาท แม้ว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในระดับนานาชาติ แต่ยังเสียเปรียบคู่แข่งสำคัญด้วยต้นทุนที่สูงกว่า โดยผู้ประกอบการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบ อากรนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ อีกทั้งยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะช่างฝีมือ การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการพิจารณายกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต ภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากร จะทำให้ในปี 2563 ไทยจะส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และยกระดับเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกต่อไป
ในส่วนของคลัสเตอร์ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนคนไข้ ประเทศที่มาเยือน และรายได้ ทำให้ปัจจุบันมีรายได้จากการรักษาพยาบาลคนไข้ชาวต่างชาติในโรงพยาบาลเอกชนไม่ต่ำกว่า 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มเป้าหมายที่ควรมุ่งเน้น คือ ผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางมารักษาพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 40 ของชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการทั้งหมด ปัญหาอุปสรรคหลักของธุรกิจนี้ คือ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ และบุคลากรที่ช่วยดูแลผู้ป่วยจากต่างประเทศที่ใช้ภาษาต่างประเทศ ที่ประชุมพกค. จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
การแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ในระยะสั้น ได้แก่ การออกใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และใบอนุญาตชั่วคราวให้แก่แพทย์จากต่างประเทศ เพื่อมาเสริมบุคลากรที่ขาดแคลนเป็นการชั่วคราว ส่วนการแก้ไขในระยะยาวจะกำหนดแผนการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้มีสัดส่วน 9 – 10 คนต่อประชากร 10,000 คน หรือต้องผลิตแพทย์ให้ได้ประมาณปีละ 7,500 คน
ในส่วนของคลัสเตอร์ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้หารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น ที่ประชุม พกค. ได้เสนอให้มีการพิจารณาการตีความประเภทยานยนต์เพื่อประเมินพิกัดภาษีศุลกากรขาเข้าที่ชัดเจน และในส่วนของปัญหาเกี่ยวกับสหภาพแรงงานได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนร่วมกันจัดทำแผนการผลิตบุคลากรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมในระยะยาว