คดีนี้ สหภาพฯทีโอที ขอให้ศาลปกครองพิจารณาชี้ขาดว่า สิทธิการใช้คลื่นความถี่ของ บมจ.ทีโอที ตามความที่บัญญติไว้ในมาตรา 87 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และบทเฉพาะกาลมาตรา 71 วรรค 1 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 จะสิ้นสุดเมื่อใดระหว่างวันที่ 3 ส.ค.68 ตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 หรือ วันที่ 30 ก.ย.58 ตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 หมวด 4 เงื่อนไขเฉพาะรายบริการ บริการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ (รหัสบริการ 3-2-6)
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.58 บมจ.ทีโอที เสียสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ 900 MHz หากศาลชี้ขาดให้สิทธิการใช้คลื่นความถี่ยังเป็นของบมจ.ทีโอที ต่อไป ก็ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี คือ คณะกรรมการ กสทช., เลขาธิการ กสทช. และ อดีตคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ชดเชยระยะเวลาที่บมจ.ทีโอทีไม่สามารถใช้ประโยชน์ในคลื่นความถี่ 900 MHz ได้ ด้วยการขยายระยะเวลาอายุใบอนุญาตออกไปเท่ากับระยะเวลาที่เสียสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ 900 MHz จนถึงวันที่ศาลปกครองมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุด
แต่หากศาลชี้ขาดให้สิทธิการใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ของ บมจ.ทีโอที สิ้นสุดพร้อมกับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ก็ขอให้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนหรือแก้ไข"เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 หมวด 4 เงื่อนไขเฉพาะรายบริการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่(รหัสบริการ 3-2-6) แก้ไขครั้งที่ 1ฉบับลงวันที่ 6 พ.ค.53" และข้อ3.2"ให้สอดคล้องกับสิทธิการใช้คลื่นความถี่ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตของบมจ.ทีโอทีด้วย
ศาลได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดีนี้ รวมทั้งกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูลในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 หาได้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีแม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะมีฐานะเป็นสหภาพแรงงานของ บมจ.ทีโอที ก็เป็นเป็นเพียงนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เท่านั้น โดยการเจรจาต่อรองกันในเรื่องของผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อกันซึ่งกรณีดังกล่าวอาจทำให้ผลประโยชน์ของการเจรจาต่อรองของผู้ฟ้องคดีลดน้อยลงจากการที่ บมจ.ทีโอที ไม่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ขององค์กรแต่ก็ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูล ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการละเลยของนายจ้างหรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจจะทำให้องค์กรได้รับความเสียหายก็สามารถกระทำได้โดยการร้องเรียนต่อผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจนั้นๆ
ดังนั้น เมื่อการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542