อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายของ ECB ยังน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดย SCB EIC มองว่าเหตุที่ ECB ไม่ได้ผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมอย่างเต็มที่เพราะต้องการรอดูการปรับตัวของเงินเฟ้อและผลของการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ
แต่ ECB ยังเปิดช่องสำหรับการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม หากอัตราเงินเฟ้อไม่สามารถคงแรงส่งต่อเนื่องได้ในระยะต่อไป โดย ECB มีแนวโน้มที่จะขยายเวลามาตรการ QE ออกไปหลังจากเดือนมีนาคม 2017 อีกครั้ง หรือแม้กระทั่งการปรับเพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์ต่อเดือน ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังมีความเปราะบางจากอัตราการว่างงานที่สูงและยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ ECB น่าจะต้องรอประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อหลังจากออกมาตรการครั้งนี้อีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จึงจะมีการพิจารณาดำเนินนโยบายอีกครั้ง
แต่สิ่งที่ต้องจับตาและมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อไทยค่อนข้างมากคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในการประชุมวันที่ 15-16 ธันวาคมนี้ โดยเฉพาะการไหลออกของเงินทุนต่างชาติและอาจทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นปีนี้ และ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีหน้า
"ในวันที่ 15-16 ธันวาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้เช่นเดียวกับการขยายมาตรการ QE และเป็นผลดีต่อการส่งออกของยูโรโซน"