กกร.จะเสนอ"สมคิด"เพิ่มวงเงินซอฟท์โลนอีก 1 แสนลบ.หลังมีสินเชื่อSMEค้างท่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 7, 2015 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) เตรียมเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) อีก 100,000 ล้านบาท หลังจากซอฟท์โลนก้อนแรกหมดไปแล้วขณะนี้ เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังและรัฐบาล เนื่องจากการสำรวจของสมาคมธนาคารไทยพบว่า ยังคงมีสินเชื่อค้างท่อหรือเอสเอ็มอียื่นขอสินเชื่อผ่านธนาคารทั้ง 19 แห่งอีกประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ ขณะที่ลูกค้าของธนาคารออมสินมีลูกค้าเอสเอ็มอีมายื่นขอสินเชื่อถึง 1.3 หมื่นล้านบาท แต่สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพียง 4,800 ล้านบาท จึงมีความต้องการสินเชื่อส่วนเกินอีก 5,000 ล้านบาท

ดังนั้นธนาคารจึงได้ออกผลิตภัณฑ์ขึ้นมาทดแทนให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคาร โดยให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษร้อยละ 5 สำหรับปีแรก หลังจากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยเป็น MLR จนถึง MLR บวก 1.5% ปัจจุบันดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.7% แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงการคลังและรัฐบาลสำหรับสภาพคล่องของแบงก์ไม่มีปัญหา เพราะขณะนี้มีสภาพคล่องส่วนเกิน ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท ส่วนกรณีที่มีธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ขอให้ลดขนาดวงเงินเล็กลงเหลือ 10-20 ล้านบาทเพื่อช่วยเอสเอ็มอีขนาดเล็กนั้น ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนของแต่ละแบงก์วงเงินเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 8-9 ล้านบาท และไม่เกินจำนวน 10 ล้านบาทต่อรายสามารถช่วยเอสเอ็มอีขนาดเล็กให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างไม่มีปัญหา

สำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) นั้นเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ วงเงิน 100,000 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อต่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2558 นั้น ที่ผ่านมา และได้มีการปล่อยกู้จนเต็มวงเงิน 100,000 ล้านบาท ไปแล้วเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 โดยมีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับความช่วยเหลือกว่า 11,500 ราย

สำหรับแผนการปล่อยสินเชื่อและเงินฝากปีนี้ยังเป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่าสินเชื่อและเงินฝากโดยรวมจะเติบโต 4% หรือโตประมาณ 1.5 เท่าของจีดีพี ส่วนในปี 59 คาดว่าสินเชื่อและเงินฝากจะเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ 3-4% เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นรายย่อย ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีคาดว่าจะเติบโตประมาณ 6-8% เพราะปัจจุบันยังมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของพอร์ตสินเชื่อรวมเท่านั้น

ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียม คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.5 พันล้านบาทต่อปี ส่วนปีหน้าเพิ่มเป็น 5-6 พันล้านบาทเนื่องจากปีนี้ธนาคารได้ลูกค้าโมบายแบงก์กิ้งตั้งแต่เดือนพ.ค.จนถึงปัจจุบันประมาณ 3 แสนราย และคาดว่าปีหน้จะเพิ่มเป็น 5 แสนราย ส่วนบัตรเดบิตจนถึงสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2.5 ล้านใบ ส่วนเครื่องเอทีเอ็มปีหน้ามีแผนจะเพิ่มอีก 900 เครื่อง จากปัจจุบันอยู่ 6,000-7,000 เครื่อง ส่วนเครื่องเอดีเอ็ม(รับฝากเงินอัตโนมัติ)จะเพิ่มเป็น 300 เครื่อง จากปัจจุบันที่มี 1,000 กว่าเครื่องขณะนี้ธนาคารได้เปิดทำช่องทางการชำระเงินในอนาคตจะทำอีเพย์เม้นท์ ตามแนวนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการคลังเพราะฉะนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมการออกบัตร ในเรื่องร้านค้ารับบัตร ช่องทางการชำระเงินเติมเงิน เช่น เอทีเอ็ม โมบายแบงก์กิ้ง และช่องทางอื่นๆ เพราะฉะนั้นต้องทำครบวงจร รวมถึงธุรกิจอีเพย์เม้นท์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ