(เพิ่มเติม1) ครม.ผ่านหลักการร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ2 ฉบับให้กฤษฎีกาปรับแก้ก่อนส่งสนช.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 8, 2015 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ เห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ แต่จะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ใน 26 ประเด็นที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันของหลายฝ่ายก่อนส่งกลับมายังครม.เพื่อเสนอต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต่อไป

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า การที่ครม.ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าจะผ่านออกมาเป็นกฎหมายทันทีเพราะต้องมีการปรับแก้และต้องส่งให้ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาอีกครั้ง โดยสิ่งที่รัฐบาลกังวลคือ หากไม่เร่งพิจารณาจะมีปัญหาด้านพลังงานในอีก 5-6 ปีข้างหน้า และสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการไม่ได้ทำเพื่อตนเอง และไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใด จึงไม่ต้องการให้กลุ่มใดออกมาประท้วงในเรื่องนี้

"เรื่องพลังงานเป็นการเสนอเพื่อรับทราบ ก็ต้องไปปรับแก้กันอีก ต้องส่งไปสนช. จะออกหรือไม่ออก ยังไม่รู้ แต่สิ่งที่ผมกังวล ถ้าไม่ทำจะมีปัญหาเรื่องพลังงานในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้นต้องมารับผิดชอบร่วมกัน หากทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่างเดียว สิ่งที่ทำไม่ได้ทำเพื่อผม ไม่ได้เอื้อใคร แต่ทำเพื่อประชาชน"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับใดก็แล้วแต่ เป็นการปรับปรุงแก้ไขจากปัญหาเดิมๆที่เคยมีความขัดแย้งหรือติดขัดไม่สามารถเดินหน้าได้ จึงเป็นที่มาที่ครม.นำไปพิจารณา

ด้านพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เสนอคำชี้แจงในแต่ละประเด็นของร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับต่อครม. ภายหลังจากที่ได้มีการหารือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ของสนช.ไว้แล้ว

สำหรับขั้นตอนจากนี้จะส่งร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปทบทวนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 26 ประเด็นที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน อาทิ เรื่องระบบสัมปทาน การแบ่งปันผลผลิต การจ้างผลิต การจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นต้น และให้นำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง แต่คงยังไม่ทันภายในสิ้นปีนี้

เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเสร็จและส่งเรื่องมายังครม.แล้ว ก่อนจะส่งไปยังขั้นตอนของสนช.เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ โดยจะให้คณะกรรมาธิการฯมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มจำนวนกรรมาธิการฯเป็น 30-35 คน จากปกติที่มีเพียง 15 คน และเปิดกว้างให้มาจากหลายกลุ่มสาขามากขึ้น

ส่วนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่จะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นกับปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ความจำเป็นมากน้อยเพียงใด หรือมีสถานการณ์พลังงานมีปัญหาขาดแคลนหรือไม่ ขณะเดียวกันเมื่อราคาพลังงานโลกลดลง ดังนั้น จะคุ้มค่าหรือไม่หากเปิดให้มีการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่

รมว.พลังงาน มองว่า สถานการณ์ราคาพลังงานในปีหน้าอาจจะมีความหวือหวาในด้านราคาอยู่บ้าง โดยโอกาสที่ราคาพลังงานจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยกลไกของราคานั้นจะมีน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ข่าว เช่น ภาวะสงคราม เป็นต้น

อนึ่ง กระทรวงพลังงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้งสองฉบับ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับเดิม ส่วนหนึ่งรองรับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อเพิ่มทางเลือกการให้สิทธิการสำรวจเป็นระบบสัมปทาน หรือแบ่งปันผลผลิต(PSC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ