นาง
อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังเจ้าหน้าที่สืบทราบว่ามีการปลอมปนข้าวหอมมะลิในพื้นที่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ
ภาคเหนือ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาจำหน่าย
ข้าวเปลือกหอมมะลิที่
เกษตรกรจำหน่ายและภาพพจน์ข้าวหอมมะลิของไทยในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ กระทรวงฯจึงออกประกาศแจ้งเตือนไปยังผู้เกี่ยวข้องในการซื้อขาย
ข้าวเปลือกให้รับทราบและถือปฏิบัติ โดยให้ผู้ที่มีพฤติกรรมปลอมปนข้าวหยุดการกระทำดังกล่าว หากตรวจพบจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับในกรณีความผิดฐานปลอมปนสินค้าและการฉ้อโกง
สำหรับการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่ามีการปลอมปน
ข้าวเปลือกหอมมะลิในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และนครราชสีมา ขณะนี้ได้ขยายผลการดำเนินการตามกฎหมายแล้วใน 2 จังหวัด ได้แก่ ที่จังหวัดสุรินทร์ พนักงานสอบสวน สภ.ศีขรภูมิ ได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจำนวน 4 ราย โดยพฤติการณ์คือ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 58 ผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ได้นำ
ข้าวเปลือกมะลิเตี้ย หรือพันธุ์ ซี 3 (แหล่งเพาะปลูกในจังหวัดเพชรบูรณ์) จำนวน 4 คันรถกระบะ ไปขายให้กับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.สุรินทร์ จำกัด สาขาอำเภอศีขรภูมิ โดยหลอกลวงว่าเป็นข้าวหอมมะลิพันธุ์ กข 15 เพื่อให้ได้ราคาขายที่สูงกว่า
ข้าวเปลือกมะลิเตี้ย ซึ่งเจ้าหน้าที่ สกต.สุรินทร์ ได้ตรวจสอบโดยใช้น้ำยาเคมีที่ผู้ประกอบการค้าข้าวใช้ตรวจสอบทั่วไปทางการค้า(หากเป็นข้าวหอมมะลิเมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำยาเคมีแล้วเมล็ดข้าวจะเป็นสีชมพู) ผลปรากฏว่าเมล็ดข้าวเป็นสีม่วง ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่
ข้าวเปลือกพันธุ์ กข.15 จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.ศีขรภูมิ ในความผิดฐานพยายามฉ้อโกง
และที่จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจสอบพบการปลอมปนข้าวเปลือกหอมมะลิที่ท่าข้าวเกียรติจรูญทรัพย์ อำเภอเขื่องใน ซึ่งเจ้าของท่าข้าวยอมรับว่าได้ขนข้าวเปลือกเจ้ามาจากท่าข้าวโชควงษ์ทอง จังหวัดชัยภูมิ ในราคากิโลกรัมละ 7.70 บาท มาผสมและจำหน่ายที่จังหวัดยโสธรและชลบุรี ในราคากิโลกรัมละ 9.60-9.80 บาท โดยได้มีการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.เขื่องใน แล้ว
ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันการปลอมปนข้าวหอมมะลิ และเป็นการป้องปราบมิให้ผู้ประกอบการโรงสีและท่าข้าวนำข้าวเปลือกในพื้นที่อื่นมาผสมและจำหน่ายเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ โดยสั่งการให้พาณิชย์จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา) ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญ และอยู่ในช่วงที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดดำเนินมาตรการต่างๆ ดังนี้ (1) จัดประชุมผู้ประกอบการค้าข้าวทั้งโรงสีและท่าข้าว เพื่อกำชับ มิให้รับซื้อข้าวที่มีการปลอมปน หรือกระทำการปลอมปนข้าวหอมมะลิ (2) เข้มงวดกวดขันในการติดตาม ตรวจสอบการขนย้ายข้าวเปลือกจากพื้นที่อื่นเพื่อนำไปปลอมปนในจังหวัด รวมทั้งขยายผลกรณีตรวจสอบแล้วพบการปลอมปนว่าเป็นพฤติกรรมที่ดำเนินการเป็นขบวนการหรือไม่อย่างไร และ (3) กรณีตรวจพบการกระทำความผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด รวมทั้งขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมกับจังหวัดในการติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลมิให้การปลอมปนข้าวหอมมะลิ เพื่อรักษาคุณภาพและภาพพจน์ข้าวหอมมะลิของไทย
อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/ธนวัฏ/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--