และจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่วัดจากประเภทและขนาดความจุเครื่องยนต์ เป็นการวัดจากการปล่อยมลพิษแทน ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดังกล่าว เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกันในการดำเนินการด้านการปฏิบัติ เช่น การออกป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) รวมถึงการตรวจสอบค่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร หารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในการวางแนวทางการวัดการปล่อยมลพิษ การตรวจสอบการปล่อยมลพิษ สรุปสาระสำคัญของแนวทางการดำเนินงานเพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ดังนี้
1.ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าต้องนำรถยนต์ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยผ่านการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือที่รู้จักโดยทั่วไปคือ R83 ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าว จะมีค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ปรากฏอยู่ในผลการตรวจสอบ และรถยนต์บางประเภทต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยประเภทระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุ (Active Safety)
2.ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า จะต้องนำผลการตรวจสอบเข้าสู่ระบบของ สศอ. เพื่อให้ค่าดังกล่าวปรากฏอยู่ในป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมสรรพสามิต สมอ. และ สศอ. จะตรวจสอบรายละเอียดที่ได้นำเข้าสู่ระบบดังกล่าว หากถูกต้องครบถ้วน ก็จะมีการพิมพ์ป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) ให้ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า
3.ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า จะต้องยืนยันผลการตรวจสอบดังกล่าวให้กรมสรรพสามิต หรือกรมศุลกากร แล้วแต่จุดความรับผิดเกิด เพื่อกรมสรรพสามิตหรือกรมศุลกากรจะได้จัดเก็บภาษีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นสำคัญ
4.ป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) ที่ผู้ผลิตในประเทศหรือผู้นำเข้าได้รับจากกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีการตรวจสอบถูกต้องแล้ว จะต้องนำไปปิดไว้ที่รถยนต์ทุกคัน ณ จุดขาย เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และอัตราการใช้พลังงาน
5.กรณีที่รายละเอียดในคำขอการออกป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) ดังกล่าวยังไม่ครบถ้วน ผู้ผลิตในประเทศหรือผู้นำเข้าสามารถใช้ข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากลเบื้องต้น (Eco Sticker เบื้องต้น) แทนก่อนได้ และนำป้ายข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบแล้วมายื่นกับหน่วยงานของรัฐภายใน 45 วัน
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นแนวทางที่หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ใช้เป็นแนวปฏิบัติ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีรถยนต์ใหม่ที่เปลี่ยนจากที่วัดประเภทและขนาดความจุเครื่องยนต์มาเป็นการวัดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) นั้น จะทำให้การแนวโน้มการจัดเก็บรายได้จากภาษีรถยนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 7-8 พันล้านบาท จากคาดการณ์การจำหน่ายรถยนต์นั่งภายในประเทศปีนี้ อยู่ที่ 7 แสนคัน และในปี 2559 อีกประมาณ 8 แสนคัน
ทั้งนี้ ยอมรับว่าภาษีรถยนต์ใหม่จะมีผลกับรถยนต์นั่งขนาดกลาง เครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,800-2,000 ซีซี เป็นหลัก โดยอัตราภาษีจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไม่เกิน 5% ขณะที่รถยนต์ในกลุ่มอีโคคาร์ และรถซุปเปอร์คาร์อัตราภาษียังอยู่เท่าเดิม
"ภาษีใหม่จะวัดตามการปล่อยก๊าซ Co2 เป็นหลัก หากปล่อยเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เกินกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร ก็จะเสียภาษีในอัตราใหม่ที่ 30% โดยในส่วนนี้อาจต้องไปดูในรายละเอียดของประเภทรถยนต์ด้วย ซึ่งภาษีใหม่จะมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจ" นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า ขณะนี้รถยนต์ที่ผลิตภายในประเทศ 667 รุ่น ได้มีการส่งให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจสอบค่าการปล่อยก๊าซ Co2 แล้ว และส่งรายละเอียดทั้งหมดมาให้กรมฯ เพื่อพิจารณาจัดอัตราภาษีตามประเภทและตามค่าการปล่อยก๊าซดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ส่วนรถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น ก็ต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันทั้งหมด และไม่มีความล่าช้าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน