และที่จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจสอบพบการปลอมปนข้าวเปลือกหอมมะลิที่ท่าข้าวเกียรติจรูญทรัพย์ อำเภอเขื่องใน ซึ่งเจ้าของท่าข้าวยอมรับว่าได้ขนข้าวเปลือกเจ้ามาจากท่าข้าวโชควงษ์ทอง จังหวัดชัยภูมิ ในราคากิโลกรัมละ 7.70 บาท มาผสมและจำหน่ายที่จังหวัดยโสธรและชลบุรี ในราคากิโลกรัมละ 9.60-9.80 บาท โดยได้มีการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.เขื่องใน แล้ว
ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันการปลอมปนข้าวหอมมะลิ และเป็นการป้องปราบมิให้ผู้ประกอบการโรงสีและท่าข้าวนำข้าวเปลือกในพื้นที่อื่นมาผสมและจำหน่ายเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ โดยสั่งการให้พาณิชย์จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา) ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญ และอยู่ในช่วงที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดดำเนินมาตรการต่างๆ ดังนี้ (1) จัดประชุมผู้ประกอบการค้าข้าวทั้งโรงสีและท่าข้าว เพื่อกำชับ มิให้รับซื้อข้าวที่มีการปลอมปน หรือกระทำการปลอมปนข้าวหอมมะลิ (2) เข้มงวดกวดขันในการติดตาม ตรวจสอบการขนย้ายข้าวเปลือกจากพื้นที่อื่นเพื่อนำไปปลอมปนในจังหวัด รวมทั้งขยายผลกรณีตรวจสอบแล้วพบการปลอมปนว่าเป็นพฤติกรรมที่ดำเนินการเป็นขบวนการหรือไม่อย่างไร และ (3) กรณีตรวจพบการกระทำความผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด รวมทั้งขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมกับจังหวัดในการติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลมิให้การปลอมปนข้าวหอมมะลิ เพื่อรักษาคุณภาพและภาพพจน์ข้าวหอมมะลิของไทย
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยรับปากจะเพิ่มปริมาณรับซื้อข้าวหอมมะลิไทยอีก 100,000 ตัน จากเดิมที่รับซื้อ 100,000 ตันแรกครบไปแล้ว เพื่อนำมาเก็บสต็อกเป็น 3 เดือน หรือตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.59 ตามมาตรการดูแลราคาข้าวเปลือกหอมมะลินาปีปี 58/59 ในการดูดซับผลผลิตข้าวหอมมะลิใหม่ในช่วงต้นฤดูออกจากตลาด โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ(ข้าวแห้ง) ในตลาดขณะนี้อยู่ที่ตันละ 13,000-13,500 บาท และข้าวสารตันละ 26,000 บาท
"ราคาข้าวหอมมะลิที่ลดลงขณะนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพและความชื้น หากได้ความชื้นตามเกณฑ์คือ 15% ราคาอยู่ในระดับที่ชาวนารับได้ ส่วนการรับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิในยุ้งฉางได้รับรายงานว่าชาวนาเริ่มนำข้าวเปลือกมาเข้าโครงการมากขึ้น จากในช่วงแรกที่เข้าร่วมโครงการน้อย เพราะการประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง" นางอภิรดี กล่าว
สำหรับความคืบหน้าการประมูลข้าวสารสต็อกรัฐบาลเพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมปริมาณ 37,412 ตันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะคณะทำงานพิจารณาการระบายข้าวกำลังรวบรวมราคาที่เอกชนเสนอซื้อเข้ามา เพื่อเสนอต่อประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) พิจารณาว่าจะอนุมัติขายหรือไม่