จากผลสำรวจเดือนพ.ย. 2558 ครัวเรือนส่วนใหญ่ ยังคงมีความคาดหวังต่อภาวะการครองชีพที่ดีขึ้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ 47.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน จากระดับ 46.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่ดีสำหรับการฟื้นตัวของการบริโภคในช่วงปลายปีนี้-ต้นปีหน้า สอดรับกับช่วงเวลาการปล่อยแคมเปญเพิ่มสีสันและกระตุ้นยอดขายของภาคเอกชนในช่วงเทศกาล
"ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ของครัวเรือนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ขยับขึ้นมาที่ระดับ 47.0 ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 เดือน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
เป็นที่คาดหวังว่า เม็ดเงินของภาครัฐทั้งจากงบประมาณและมาตรการกระตุ้นหลากหลายรูปแบบน่าจะเริ่มทยอยเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงหลายเดือนนับจากนี้ ขณะที่ ความคาดหวังด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากค่าตอบแทนในการทำงานที่อาจจะได้รับในช่วงสิ้นปี (และในช่วงต้นปีหน้า) ยังมีส่วนช่วยทำให้ดัชนีมุมมองต่อสถานการณ์รายได้ของภาคครัวเรือนในผลสำรวจฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ดัชนีมุมมองด้านรายได้คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ขยับขึ้นมาที่ 49.7 จาก 49.2 ในเดือนก่อนหน้า) และช่วยลดทอนความรู้สึกในเชิงลบต่อภาระหนี้สินและภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามช่วงเทศกาลของครัวเรือนบางส่วนลง อย่างไรก็ดี สถานการณ์นี้อาจเป็นผลเพียงชั่วคราว ซึ่งยังคงต้องจับสัญญาณความต่อเนื่องต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจจากผลสำรวจ คือ ครัวเรือนหลายๆ ส่วนยังคงมีความกังวลต่อภาระค่าใช้จ่ายรายการพิเศษที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่สัญญาณที่ดีขึ้นจากมุมมองด้านรายได้ตามช่วงเวลาของการจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานของบางหน่วยงาน ก็เข้ามาช่วยบรรเทาความกังวลในส่วนนี้ลง ขณะที่ สัญญาณการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ภาคครัวเรือนมีความคาดหวังต่อสถานการณ์การครองชีพที่ดีขึ้นในช่วงปีข้างหน้า
ท่ามกลางความผันผวนของตัวแปรทางเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมจะมีผลต่อเนื่องไปยังสถานการณ์รายได้ของครัวเรือนหลายๆ ระดับ ทำให้โจทย์สำคัญที่รออยู่ในช่วงปี 2559 จึงอยู่ที่การประคองความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของภาคครัวเรือนให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเร่งผลักดันให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเกิดผลเชิงรูปธรรมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเบื้องต้นว่า แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2559 มีโอกาสที่จะเติบโตได้ใกล้เคียงหรือดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสถานการณ์การบริโภคในปี 2558 ซึ่งคาดว่า อาจสามารถขยายตัวที่ 2.1%