การประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก(WTO) เป็นกลไกการดำเนินงานและการตัดสินใจของ WTO ในระดับสูงสุด มีวาระการประชุมอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 2 ปี ทำหน้าที่ในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางเกี่ยวกับกิจกรรมทั้งปวงของ WTO โดยจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวร่วมกับรัฐมนตรีการค้าอีก 161 ประเทศ
การประชุมครั้งนี้สมาชิกมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้มีผลลัพธ์ออกมาในรูปของ "Small Package" โดยมีประเด็นสำคัญ คือ 1.การยกเลิกการอุดหนุนส่งออก (Export Subsidies) สินค้าเกษตรและการวางหลักเกณฑ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง 2.ประเด็นว่าด้วยการพัฒนาและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และ 3.ความโปร่งใส (Transparency) เรื่องกฎเกณฑ์ และอาจมีการหารือประเด็นเจรจาอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ การค้าสินค้าอุตสาหกรรม การค้าบริการ และทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับไทยยังคงให้ความสำคัญกับการผลักดันให้มีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพิ่มเติม โดยลดภาษีสินค้าเกษตรระหว่างกัน รวมทั้งผลักดันให้มีการยกเลิกการอุดหนุนส่งออกให้หมดไปโดยเร็ว สำหรับประเด็นว่าด้วยการพัฒนาและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ไทยสนับสนุนให้ประเทศประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการค้าพหุภาคีมาโดยตลอด โดยเฉพาะการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ทั้งในเรื่องการค้าสินค้าและบริการ รวมทั้งยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบใหม่ในประเทศแถบแอฟริกาด้วย
อนึ่ง เคนยาได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เมื่อวันที่ 1 ม.ค.38 ถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับปานกลางขั้นต่ำ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก มีบทบาทนำในภูมิภาค ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง เป็นสมาชิกในประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community: EAC) และตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก และแอฟริกาตอนใต้ (Common Market for Eastern and Southern Africa: COMESA) ทำให้เคนยาสามารถเป็นประตูสู่แอฟริกาได้