โดยนโยบายสำคัญคือ การให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้ แต่อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ 14-42 บาทนั้นถือว่าสูงสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งปัญหาเพราะที่ผ่านมาคิดเป็นช่วงๆ คิดเป็นเส้นๆ ทำทีละตอน ทำให้ใช้เงินลงทุนสูง ต่อไปนี้แนวคิดในการทำโครงการต้องเกิดประโยชน์สูงสุด การก่อสร้างต้องวางแผนทั้งระบบ ดูโครงข่ายวงนอกกรุงเทพฯจะเชื่อมกับกรุงเทพฯชั้นในอย่างไร ต่อไปในอนาคตศูนย์ควบคุมการเดินรถต้องใช้ร่วมกันได้ ไม่ว่าใครจะมารับงานเดินรถจะต้องเข้ามาร่วมทุนและใช้ศูนย์ควบคุมเดียวกันได้
โครงการดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาการจราจร และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็ง สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
นอกจากนี้ ในอนาคตการนำเข้าตัวรถไฟฟ้าจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับวิศกรของไทยด้วย ซึ่งกระทรวงศึกษาและอาชีวะ ต้องรับไปดำเนินการในการกำหนดหลักสูตรในด้านนี้ต่อไป
"ตัวรถไฟฟ้า โครงการต่อๆไป อยากให้สามารถเชื่อมโยงกับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ เน้นใช้วัสดุภายในประเทศให้มากที่สุด ไม่ใช่สั่งซื้อมาทั้งคันแบบนี้ เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศ วันนี้ต้องเริ่ม อาจจะเป็นการนำชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศก่อน ซื้อบางส่วนใช้ในประเทศบางส่วน อนาคตสามารถผลิตได้หรือตั้งโรงงานผลิตได้ เป้าหมาย คือต้องการให้ประหยัด ปลอดภัย สร้างความเข้มแข็งในประเทศ ส่วนการใช้ที่ดิน ต้องออกแบบเพื่อให้มีชั้น 2 ชั้น 3 ทำเป็นเชิงธุรกิจ ศูนย์การค้า ต่างๆ เพื่อหารายได้มาชดเชยการลงทุน แบบนี้จะทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้" นายกฯ กล่าว
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน เป็นโครงการเชื่อมโยงการเดินทางของผู้โดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร และนนทบุรี ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัด มีระยะทาง 23 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ 16 สถานี ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้บริการเสมือนจริงได้ในเดือนพฤษภาคม 2559 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 เป็นต้นไป
ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง ระยะทาง 23 กม. มีสถานียกระดับ 16 สถานี อาคารจอดแล้วจร 4 แห่ง ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง โดยปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาเสร็จสมบูรณ์แล้ว คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารประมาณ 60,000 คน/ชม./ทิศทาง
โดยบมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) เป็นผู้รับสัมปทานให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ซึ่ง BMCL เป็นผู้ลงทุนจัดหาระบบรถไฟฟ้า ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เป็นเวลา 30 ปี โดยกำหนดเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการเสมือนจริงประมาณเดือนพ.ค.59 และเปิดให้เดินรถเป็นทางการในเดือนส.ค. 59 และสัญญาสัมปทานสิ้นสุดปี 86
หลังจากนั้นเวลาประมาณ 11.25 น. นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เพื่อเป็นประธานในพิธีฉลองความสำเร็จการเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ณ สถานีสนามไชย เขตพระนคร พร้อมเยี่ยมชมอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นการเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกของประเทศไทย ระยะทางประมาณ 200 เมตร(ฝั่งขาเข้า) ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาจากสถานีอิสรภาพไปสถานีสนามไชย
โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีระยะทาง 27 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ หัวลำโพง บางแค ระยะทาง 14 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ 7 สถานี สถานีใต้ดิน 4 สถานี และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 13 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ 10 สถานี การก่อสร้าวมีความคืบหน้าร้อยละ 70 คาดเปิดเดินรถได้ในเดือนมิถุนายน 2562