ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องกำหนดดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ให้อยู่บนยุทธศาสตร์ที่ใช้เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง โดยพิจารณาถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของข้าวไทย โดยเมื่อพิจารณาถึงจุดแข็งของข้าวไทย พบว่า มีความหลากหลายทางชีวภาพจากภูมิศาสตร์ของประเทศ ทำให้มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย และปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้อย่างยืดหยุ่นกับสถานการณ์การเพาะปลูก รวมทั้งสนองความต้องการของตลาดได้อย่างครบวงจร ซึ่งเป็นผลจากการสั่งสมภูมิปัญญาของชาวนาไทยในการเพาะปลูกที่แม้จะต้องประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ ทางธรรมชาติ แต่ปริมาณการส่งออกข้าวตั้งแต่ ปี 2520 – 2554 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึงปีละ 2.2 แสนตัน แสดงให้เห็นถึงทักษะความเชี่ยวชาญของพี่น้องชาวนาได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน ข้าวไทยยังได้รับการยอมรับอย่างยาวนานว่าคุณภาพดี และมีการพัฒนาต่อยอดความรู้ ตัวอย่างของการแปรรูปข้าวที่เห็นผลชัดเจน เช่น การแปรรูปข้าวเปลือกเปียกน้ำ เพื่อป้องกันความเสียหายจากการบูดเน่า ให้เป็นข้าวนึ่ง ซึ่งกลายเป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา และส่งออกได้ถึงปีละ 3 ล้านตัน มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท และยังคงเติบโตด้านการส่งออกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับจุดอ่อนของข้าวไทยที่ยังต้องเร่งพัฒนาปรับปรุง เช่น ประสิทธิภาพการผลิตของไทยยังขาดความสม่ำเสมอ อันเกิดจากการลดความสำคัญของนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการผลิต แต่มุ่งเน้นนโยบายด้านราคา ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของพื้นที่นาในเขตชลประทานสูงกว่าที่นาน้ำฝนถึงประมาณ 1 เท่าตัว หรือประมาณ 600 กิโลกรัมต่อไร่ในเขตชลประทาน เมื่อเปรียบเทียบกับ 300 กิโลกรัมต่อไร่ในเขตนาน้ำฝน ต้นทุนการผลิตสูง คุณภาพข้าวไทยมีแนวโน้มต่ำลง เป็นผลจากการมุ่งเน้นนโยบายด้านราคา โดยบิดเบือนกลไกตลาดอย่างไม่มีข้อจำกัด ทำให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับคุณภาพและความต้องการที่แท้จริงของตลาดลดลง การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่ดี โดยเฉพาะในระบบการทำนาปัจจุบันที่ต้องการศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงและทนทานต่อศัตรูพืชสำคัญ องค์กรชาวนายังขาดความเข้มแข็ง ทำให้ขาดอำนาจต่อรองทางการตลาด ขาดการเชื่อมโยงกันตลอดวงจรโซ่อุปทานให้เห็นเป็นภาพรวม
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงความเสี่ยงของข้าวไทย มี 4 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่ 1.ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลกมีการเร่งรัดให้ความสำคัญกับ การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 2.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 3.ส่วนแบ่งการตลาดของข้าวไทยลดลง แม้จะส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนของประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดียและเวียดนาม เป็นต้น ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.31 และ 4.31 ตามลำดับในช่วงปี พ.ศ. 2551 – 2555 เป็นร้อยละ 14.63 และ 15.96 ตามลำดับ 4.ปัจจัยการผลิตที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูง โดยเฉพาะแนวโน้มราคาปุ๋ยเคมีที่ส่วนประกอบ ได้แก่ ไนโตรเจนขึ้นกับราคาก๊าซธรรมชาติ และฟอสฟอรัสที่สกัดจากหินฟอสเฟต ซึ่งเริ่มมีภาวะขาดแคลนและราคาสูงขึ้น ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่มีการประเมินกันว่าอาจเป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยงของข้าวไทยและชาวนาไทย ก็คือการก้าวเข้าสู่นโยบายการค้าเสรีทั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและนอกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งการก้าวไปสู่การค้าอย่างเสรีเปรียบเสมือนการรวมกันเป็นตลาดเดียวกัน จะยิ่งทำให้ตลาดการค้าของประเทศไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น มีช่องทางการกระจายสินค้าเพิ่มมากขึ้น นับได้ว่าเป็นโอกาสที่จะขยายขอบเขตการค้าข้าวออกไปได้
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เราต้องประสบ คือ ความสามารถในการรักษาและพัฒนาคุณภาพของสินค้าและลดต้นทุนการผลิตให้แข่งขันได้ด้วย หากสินค้ามีคุณภาพด้อยลงหรือต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โอกาสที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นวิกฤตทันที เพราะประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ หรือลาว ที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกข้าวเช่นเดียวกับไทยและเป็นประเทศที่มีการผลิตข้าวเหลือใช้ในประเทศและเป็นผู้ส่งออกข้าวก็สามารถส่งสินค้ารวมทั้งข้าวมาจำหน่ายในประเทศไทย ในตลาดอาเซียน และในตลาดโลกได้โดยเสรีเช่นกัน
“ยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าวไทยต้องคำนึงถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงดังกล่าว โดยต้องนำไปสู่การพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ไปจนถึงการจำหน่ายและการเพิ่มมูลค่าข้าวด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ เริ่มต้นจากการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเช่น การปรับปรุงพันธุ์ที่มีความทนทานต่อสภาวะน้ำท่วมขัง หรือการปรับปรุงพันธุ์ที่สามารถทนทานต่อภัยแล้งในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำจำกัด เป็นต้น โดยต้องจัดหาช่องทางการกระจายพันธุ์ให้ได้ทั่วถึงด้วย" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว