สำหรับผลต่อไทย ในกรณีที่เฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คงทำให้เกิดผลกระทบระยะสั้น ต่อตลาดการเงินไทยบ้าง แต่ผลกระทบยังคงน่าจะยังจำกัดและอยู่ในวิสัยที่ทางการไทยรับมือได้
ในระยะสั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดคงกระทบไทยจำกัด เนื่องจากตลาดการเงินได้มีการปรับตัวไปบางส่วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้ง การปรับลดการถือครองหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ ในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ที่เสถียรภาพต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี กอปรกับสภาวะสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และประเทศไทยมีการพึ่งพาเงินทุนจากภายนอกในระดับต่ำ จึงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยคงรับมือได้กับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนกระแสเงินทุน หากเฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ โดยที่เงื่อนไขในการดำเนินนโยบายการเงินของไทยยังคงมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะเอื้อให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อเกื้อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่รอพลังการขับเคลื่อนจากภาครัฐ และการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาพที่เฟดอาจจะยังคงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นอยู่ จึงอาจมีผลกระทบให้ค่าเงินบาทผันผวนในทิศทางอ่อนค่าอยู่ เช่นเดียวกับ การปรับขึ้นของผลตอบแทนตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงโอกาสการปรับฐานของราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้นำเข้า และธุรกิจที่มีแผนการกู้ยืมเงิน ในระยะกลาง-ยาว จึงควรติดตามสถานการณ์การส่งสัญญาณของเฟดและเครื่องชี้ต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมหาแนวทางการรับมือล่วงหน้าที่เหมาะสมต่อไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามหลังจากการประชุมเฟดในเดือนธ.ค.นี้มีอยู่ 3 ด้าน ซึ่งจะมีนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะต่อไป ดังนี้ 1.ประเด็นเกี่ยวกับพัฒนาการเงินเฟ้อ แม้ว่าคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นในระยะที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้ระดับเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าปรับขึ้นน้อยกว่าที่คาด โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับลดลงรอบใหม่
2.ประเด็นเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์ฯ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดท่ามกลางภาวะที่ธนาคารกลางขนาดใหญ่อื่นๆ รวมทั้งธนาคารกลางประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศยังคงดำเนินมาตรการการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง อาจจะส่งผลให้ค่าดอลลาร์ฯ ปรับแข็งค่าขึ้นมากเกินไป จนอาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้
3. การส่งสัญญาณถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เฟดเริ่ม กระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ ซึ่งตลาดจะจับสัญญาณดังกล่าวเพื่อประเมินจังหวะการปรับอัตราดอกเบี้ยในรอบถัดๆ ไป
พร้อมกันนี้ ธนาคารกสิกรไทย คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดน่าจะอยู่ในระดับประมาณ 1.0% ในปี 2559 โดยเฟดคงรอประเมินผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งแรก (หากเฟดตัดสินใจในการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบธ.ค.58) ขณะที่โอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งต่อไป อาจจะเกิดขึ้นในการประชุมเดือนมี.ค.59 เป็นอย่างเร็ว