เงินบาทเปิด 36.08/10 แนวโน้มอ่อนค่า จากแรงกดดันดอลล์แข็งรับเฟดจะขึ้นดบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 15, 2015 09:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 36.08/10 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 36.14/16 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทวันนี้คาดว่าจะแกว่งอยู่ในกรอบแคบๆ แต่ยังมีแนวโน้มไปในทิศทางที่อ่อนค่า โดยนักลงทุนรอผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ(FOMC) ในวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้ ซึ่งตลาดต่างคาดกันว่า FOMC จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้

"บาทคงแกว่งแคบๆ วันนี้ แต่ยังมีแนวโน้มไปทางอ่อนค่า คงต้องรอผลประชุม FOMC ก่อนว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยหรือไม่ในรอบนี้ คงทราบผลเช้าวันพฤหัส" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 36.00-36.20 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เช้านี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.95/121.00 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 121.00/20 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร เช้านี้อยู่ที่ระดับ 1.1009/1.1010 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0960/097 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 36.0960 บาท/ดอลลาร์
  • สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHZ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมูลอย่างน้อย 3 คืน เริ่มต้นในวันที่ 15 ธ.ค.58 เป็นต้นไป
  • แบงก์คาดเฟดถึงจุดสิ้นสุดของการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้ 0% ประเดิมปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมกลางเดือนนี้ จากเครื่องเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดแตะ 1% ในปีหน้า ส่วนผลกระทบต่อไทยมีระยะสั้น-ดูแลได้ ส่วน กนง.คาดคงดอกเบี้ย แนะกระตุ้นเอกชนลงทุนควบคู่โครงการรัฐ
  • 3 ประเทศ "ไทย-เมียนมาร์-ญี่ปุ่น" เดินหน้าจัดตั้งบริษัทร่วมทุน พัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจทวายเฟส 2 พร้อมตกลงใช้เงินบาทของไทยและเงินจ๊าดของเมียนมาร์ เพิ่มความสะดวกให้แก่การค้าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
  • นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศสนใจเข้าร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายแล้ว 78 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถเข้าไปลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยในปีหน้าจะมีความท้าทายไม่แพ้กับปี 58 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป โดยประเมินดัชนี SET Index มีโอกาสจะแกว่งตัวผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้นกว่า 400 จุด(จุดสูงสุด-จุดต่ำสุด)หรือคาดการณ์กรอบดัชนีที่ 1,100-1,500 จุดอ้างอิงช่วงระดับค่า P/E ที่ 11-15 เท่า และสมมติฐาน EPS ของ SET Index ปีหน้าที่100บาทต่อหุ้นเพราะสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดไนเมกซ์ สหรัฐ ได้ลดลงเกือบแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปีแล้ว ระหว่างการซื้อขายเมื่อคืนวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยลงไปถึง 34.70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ลดลงไปอยู่ที่ 36.70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากการทำสงครามราคาระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) กับประเทศนอกโอเปก
  • ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนและสกุลเงินหลักส่วนใหญ่เมื่อคืนนี้ (14 ธ.ค.) หลังจากที่อ่อนค่าลงในการซื้อขายช่วงแรก ขณะที่นักลงทุนรอดูการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด
  • นักลงทุนต่างคาดกันว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันอังคารและพุธนี้ โดยจะนับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษ ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ได้ออกมาส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ โดยได้แสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการว่างงานลดต่ำลง และอัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (14 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากสัญญาน้ำมันดิบร่วงหลุดระดับ 35 ดอลลาร์/บาร์เรลในระหว่างวัน โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 69 เซนต์ หรือ 1.9% ปิดที่ 36.31 ดอลลาร์/บาร์เรล สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนม.ค.ลดลง 1 เซนต์ ปิดที่ 37.92 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ขณะที่นักลงทุนจับตาดูรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ ซึ่งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในวันพุธนี้ และนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานพลังงานในตลาดโลกที่สูงเกินไป ซึ่งความกังวลในเรื่องดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงติดต่อกันหลายวัน นับตั้งแต่ที่กลุ่มโอเปกไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมันใหม่สำหรับช่วง 6 เดือนข้างหน้าได้
  • สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เผยผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมในยูโรโซนเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนต.ค. หลังจากลดลง 0.3% ในเดือนก.ย. ซึ่งการปรับตัวขึ้นของการผลิตในเดือนต.ค.เกิดจากการผลิตสินค้าคงทนเพื่อผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น 1.8%, สินค้าทุนเพิ่มขึ้น 1.4% และพลังงานเพิ่มขึ้น 0.6%
  • รัฐมนตรีต่างประเทศจากสหภาพยุโรป (EU) ระบุว่า EU กำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหม่ภายในอีกไม่กี่วัน โดยจะมีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการประชุมผู้นำของ EU ที่กรุงบรัสเซลส์ในสัปดาห์นี้ โดยมีการคาดกันว่า EU จะขยายเวลาในการคว่ำบาตรรัสเซียออกไปอีก 6 เดือนจนถึงสิ้นเดือนก.ค.2016

ทั้งนี้ EU คว่ำบาตรรัสเซียเพื่อตอบโต้การที่รัสเซียเข้าแทรกแซงความขัดแย้งในยูเครนตะวันออก โดยการคว่ำบาตรทำให้เศรษฐกิจรัสเซียย่ำแย่ลง ท่ามกลางการดิ่งลงของราคาน้ำมัน

  • ธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนายุโรป (EBRD) เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารของ EBRD ได้อนุมัติคำขอของทางการจีนเพื่อเข้าถือหุ้นในธนาคาร โดยมองว่าการที่จีนเข้ามาเป็นสมาชิก EBRD จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กลุ่มธุรกิจของจีนสามารถเข้ามาลงทุนได้อย่างยั่งยืนในภูมิภาคต่างๆที่ EBRD มีสำนักงานตั้งอยู่ นอกจากนี้ EBRD ยังแสดงความพร้อมที่จะร่วมงานกับธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ซึ่งมีจีนเป็นผู้ริเริ่ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ