2.โครงการปรับปรุงอาคารจอดแล้วจร(Park & Ride) บริเวณแยกนนทบุรี 1 จากเดิมที่ออกแบบเป็นอาคาร 4 ชั้น รองรับรถได้ 450 คัน ปรับปรุงเป็นอาคาร 10 ชั้น รองรับได้ 1,100 คัน วงเงิน 160 ล้านบาท และ 3.สะพานกลับรถ บริเวณหน้าโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ วงเงิน 166 ล้านบาท
โดยงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างทั้ง 3 โครงการ จะใช้เงินกู้ดำเนินการและจะแล้วเสร็จภายในปี 2559 โดยจะให้ผู้รับจ้างก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงในแต่ละช่วงเป็นผู้รับงานเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว โดยในส่วนของสะพานกลับรถนั้น ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมหารือสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาหน่วยงานที่จะรับผิดชอบการก่อสร้างระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) หรือกรมทางหลวง(ทล.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาหาพื้นที่ก่อสร้างที่จอดรถสาธารณะ(Public Parking) เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า โดยพิจารณาพื้นที่ใกล้แหล่งชุมชนหรือแหล่งช้อปปิ้ง เพื่อเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้า โดยจะพิจารณาพื้นที่ของหน่วยงานราชการหรือพื้นที่เอกชนที่สนใจจะลงทุน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเร่งรัดการพัฒนาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งในส่วนของคมนาคมอยู่ระหว่างพัฒนาการใช้งานของบัตรผ่านทางด่วนอัตโนมัติ(Easy Pass) ของการทางพิเศษแห่งประเทศ(กทพ.) และ M-Pass ของกรมทางหลวง ให้สามารถใช้ได้ร่วมกันภายใต้บัตรใบเดียว ซึ่งจะเริ่มทดสอบระบบในเดือน ม.ค.59 ส่วนระบบตั๋วร่วม(Common Ticket) นั้นอยู่ระหว่างจัดตั้งเคลียริ่งเฮาส์ หรือผู้บริหารจัดการรายได้กลาง และจะเริ่มใช้งานกับรถไฟฟ้า MRT กับ BTS ก่อน
ส่วนความคืบหน้ารถเมล์-รถไฟฟรีนั้นอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อออกแบบระบบให้ผู้รับสิทธิ์ใช้บริการฟรีเข้าถึงบริการ โดยจะมีการออกบัตรอีกหนึ่งใบเป็นการเฉพาะ ส่วนการจัดหารถเมล์ไฟฟ้านั้นกระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาความเหมาะสมระหว่างรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ภายในตัวรถ และรถไฟฟ้าล้อยางที่ใช้การเกี่ยวสายไฟบนหลังคา เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ