ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา พร้อมร่วมมือด้านการเมือง-ศก.-สังคม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 15, 2015 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ พร้อมอนุมัติให้ รมว.ต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา

โดยสาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการระบุข้อริเริ่ม ประเด็นผลักดันและแนวทางความร่วมมือในอนาคตระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยกระทรวงการต่างประเทศได้จัดประชุมส่วนราชการที่เกี่นยวข้อง เพื่อพิจารณาความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำร่างแถลงการณ์ ซึ่งประกอบด้วย 1. ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง 2. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 3. ความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา รวมถึงการจัดตั้งกลไกต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าว

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สะพานข้ามพรมแดน และถนนเชื่อมโยง ณ จุดผ่านแดนบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ(ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และ (ร่าง) ข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาตามที่กระทรวงแรงงาน โดยอนุมัติให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน เป็นผู้ลงนามของผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา

สำหรับร่าง MOU และ ร่าง Agreement ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา (หน่วยงานที่มีอำนาจการดำเนินการ คือ รง. และกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมวิชาชีพ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา) มีสาระสำคัญดังนี้

1.(ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) มีสาระสำคัญครอบคลุมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองประเทศในด้านแรงงาน ได้แก่ 1.1 ความร่วมมือทางวิชาการ 1.2 ความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน 1.3 ความร่วมมือด้านการจ้างงานระหว่างสองประเทศ 1.4 ความร่วมมือด้านวิชาการอื่นๆ ที่คู่เจรจามีความสนใจ และการจัดประชุมร่วมระหว่างสองฝ่ายทั้งระดับรัฐมนตรีและระดับหน่วยงานปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านแรงงานและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งกรอบการทำงานที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกของทั้งสองฝ่าย

2.(ร่าง) ข้อตกลงด้านการจ้างแรงงาน (Agreement) มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับเดิม ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2546 ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน อำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส คำนึงถึงสิทธิของแรงงาน และขจัดปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ