เอกสารของกองทัพบก ระบุว่าตามที่ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)ได้อนุมัติให้ ผบ.หน่วยเจ้าของโครงการ เป็นผู้ยื่นเอกสารสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตลอดจนมีอำนาจลงนามหรือแก้ไขเอกสารต่างๆ รวมทั้งการกระทำใดๆที่เกี่ยวข้องแทน ผบ.ทบ.นั้น ต่อมาเมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ได้ประกาศรายชื่อโครงการฯที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ซึ่งในส่วนของกองทัพบกมีโครงการผ่านการตรวจคุณสมบัติจำนวน 11 โครงการ
แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติหลักการของโครงการและผลการศึกษาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยไม่ใช้วิธีการประมูลจากรมว.กลาโหม โดยสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ส่งเรื่องคืนตามสายงาน และให้เหตุผลตามข้อพิจารณาของกรมพระธรรมนูญ(ธน.)ว่าการดำเนินโครงการฯของกองทัพบก ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพบกไม่สามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุน
รวมทั้งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่อาจส่งผลกระทบต่อกองทัพบกในอนาคต ดังนั้น ผบ.ทบ.จึงสั่งการให้หน่วยเจ้าของโครงการ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากกกพ.จำนวน 11 โครงการสละสิทธิ์และไม่จัดผู้แทนหน่วยเข้าร่วมในขั้นตอนการจับสลากของ กกพ.ที่จะมีขึ้นต่อไป
ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล หนึ่งในกกพ. และโฆษกกกพ. กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่หากกองทัพบกสละสิทธิก็จะทำให้จำนวนผู้เสนอขายไฟฟ้าที่จะเข้าจับสลากในวันที่ 22 ธ.ค.นี้น้อยลง