(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด GDP ปี 59 โต 2.5-3.5% ส่วนปี 58 โต 2.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2015 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด GDP ไทยในปี 59 ขยายตัวในช่วง 2.5-3.5% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 0.5-3.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.8-1.8%

ขณะที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะขยายตัวได้ 2.7% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากภาคเอกชน และเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 59 โดยทั้งปี 58 คาด GDP ขยายตัว 2.8% แม้ส่งออก -5.0% อัตราเงินเฟ้อ -0.9%

"เศรษฐกิจในปี 59 มีทิศทางทีดีขึ้น โดยมองการลงทุนภาครัฐยังเป็นบทบาทสำคัญที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่มีแรงหนุนเพิ่มจากการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัว ประกอบกับการส่งออกไม่ติดลบ นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเมืองในประเทศไม่มีปัจจัยกระทบรุนแรง รวมทั้งธนาครกลางสหรัฐ ไม่เร่งจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย" เอกสารฯ ระบุ

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-3.5% หรือเฉลี่ยที่ 3.0% โดยเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการลงทุนภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญและเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับมีแรงหนุนจากการลงทุนของภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 7.9% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.9%

พร้อมกันนี้เชื่อว่าการส่งออกจะไม่ติดลบเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มมีเสถียรภาพ โดยคาดว่าในปี 59 การส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 2% หรืออยู่ในกรอบ 0.5-3.5% ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 5.5% หรือในกรอบ 3.5-7.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.2% หรืออยู่ในกรอบ 0.8-1.8%

สำหรับสมมติฐานหลักที่ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ 2.5-3.5% ซึ่งนอกจากจะมาจากการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน และการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวแล้ว ยังมีปัจจัยจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ไม่มีเหตุรุนแรง และเป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้, ธนาคารกลางสหรัฐไม่เร่งจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่แม้จะยังคงกดดันภาคการเกษตรแต่ก็ไม่ลุกลามจนส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคและกิจกรรมในภาคธุรกิจ

นางพิมลวรรณ กล่าวถึงโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะมีการใช้จ่ายเม็ดเงินลงทุนเกิดขึ้นได้จริงในปี 59 คือ โครงการภายใต้งบประมาณของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กที่มีการผ่อนคลายวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีความคล่องตัวมากขึ้น, โครงการเพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งขนส่งทางถนนในระยะเร่งด่วน มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง หรืออีกราว 4 หมื่นล้านบาทต่อเนื่องจากในปีนี้ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่ต่อเนื่องและเริ่มเปิดประมูลไปแล้วในปีนี้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟทางคู่ แต่โครงการที่จะมีการประมูลในปี 59 นั้นอาจจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงเกิดขึ้นยังไม่มากนัก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่สำคัญในปีหน้า เช่น การเร่งลงทุนตามมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน, การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องหรือตามมากับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมทั้งการลงทุนเพื่อรองรับระบบ 4G

นางพิมลวรรณ มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกยังคงฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ เพราะการฟื้นตัวของการส่งออกและราคาโภคภัณฑ์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การบริโภคยังมีแรงกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ประกอบกับรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรยังลดลงจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งตารางเวลาทางการเมืองเป็นช่วงเวลาสำคัญของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่คาดว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจะมีความคืบหน้ามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะโครงการที่เปิดประมูลในช่วงปลายปี 58 ถึงต้นปี 59 น่าจะเริ่มก่อสร้างได้มากขึ้น ทั้งนี้คาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 59 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 2.8% และมาขยายตัวสุงในช่วงไตรมาส 4 ที่ 3.2% ซ่งทำให้คาดว่าทั้งปีจะโตได้ราว 3%

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าน่าจะมาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลักมากกว่า โดยเฉพาะเศรษฐกิจของจีนที่ต้องจับตาในภาคอสังหาริมทรัพย์ กำลังการผลิตส่วนเกิน และภาคการเงินที่ยังมีความเปราะบาง รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แม้จะใกล้ถึงจุดต่ำสุดและจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 59 แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีหน้าจะอยู่ในกรอบ 40-55 ดอลลาร์/บาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ