อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอีกประมาณ 0.50% ในปี 2559 แต่ทั้งนี้คงต้องติดตามแรงส่งเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ โดยเฉพาะหากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบแรกในการประชุมวันที่ 16 ธ.ค.นี้
ส่วนทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้า คาดว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปีค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 38 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากที่มองว่าเฟดจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนลดการลงทุนในสินทรัพย์ของไทยโดยเฉพาะตราสารหนี้
แนวโน้มสินเชื่อในปี 2559 ต้องฝากความหวังไว้กับสินเชื่อธุรกิจตามแรงส่งของการส่งออกและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งในธุรกิจ SMEs นั้นการฟื้นตัวยังถูกจำกัดตามบรรยากาศการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจ SMEs ที่เน้นการค้าขายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นโอกาสในการขยายสินเชื่อจะวิ่งไปที่ธุรกิจที่อยู่ใน Supply Chain ของรายใหญ่ หรือได้อานิสงค์จากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อธุรกิจในส่วนของ SMEs ในปี 59 จะเติบโตได้ 3.5-5.5% ส่วนในปีนี้คาดว่าเติบโตได้ 3%
ขณะเดียวกันในส่วนของสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ในปี 59 จะเติบโตได้ 3.5-5.5% เช่นกัน ส่วนปีนี้คาดว่าเติบโตได้ 3% โดยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ในปีหน้ายังคงได้รับแรงหนุนมาจากความก้าวหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการฟื้นตัวของการส่งออกในบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การเติบโตของสินเชื่อคงเน้นไปที่ประเภทเงินทุนหมุนเวียน โดยคาดหวังสินเชื่อเพื่อการลงทุนที่น่าจะเร่งตัวขึ้นกว่าปีก่อน ส่วนสินเชื่อบุคคลรายย่อยในปี 59 คาดว่าจะเติบโตได้ 5-7% และปีนี้โตได้ 5.9% สำหรับภาพรวมภาคการเงินของไทยในปี 59 มองว่า สภาพคล่องของระบบการเงินไทยมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นจากการเข้ามาระดมทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการปรับพอร์ตเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ แต่ทั้งนี้ทิศทางสภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้นดังกล่าวยังคงอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยที่ยังไม่นำมาสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เป็นการทั่วไป ล่าสุด ณ สิ้นเดือน ต.ค.58 สินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 4.85 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนระยะกลาง-ระยะยาว มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์คงมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากระหว่างปี เพื่อชดเชยรุ่นที่ครบกำหนด