(เพิ่มเติม1) กนง.นัดส่งท้ายปีมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตามตลาดคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2015 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 8/2558 ในวันที่ 16 ธ.ค. 58 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50%

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ กนง.แถลงว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังต้องดูแลเสถียรภาพการเงิน และโอกาสที่ตลาดการเงินจะมีความผันผวนสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง และภาวะตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

สำหรับในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ทั้งนี้ กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/58 และเดือน ต.ค.58 ฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวจากการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าจำเป็น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวต่อเนื่อง และในระยะต่อไปยังเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย รวมทั้งแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 58 ในภาพรวมมีแนวโน้มปรับดีขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อย และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 59 ใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อน ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและกลับเป็นบวกในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ตามผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่จะหมดไป นอกจากนี้ คณะกรรมการฯประเมินว่าความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดมีจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ยังขยายตัว และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก ซึ่งสะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชน

นายจาตุรงค์ ยอมรับว่า การที่ กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และอีกส่วนเป็นการเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็น โดยหากในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยไม่เติบโตไปตามที่คาดการณ์ไว้ กนง.ก็พร้อมที่จะพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

ส่วนภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นเร็วตามที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับมาเป็นบวกได้ภายในครึ่งแรกของปี 59 จากเดิมที่เคยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 59

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงมีผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อเศรษฐกิจไทย โดยในด้านบวกพบว่าช่วยกระตุ้นปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศให้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลกระทบด้านลบที่มีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ทำให้สินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกมีราคาลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ยางพารา และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี แต่ในภาพรวมแล้วมองว่าการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจะส่งผลในเชิงบวกมากกว่า

ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ผลกระทบต่อตลาดการเงินของแต่ละประเทศย่อมไม่เท่ากัน เนื่องจากขึ้นอยู่กับพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเอง แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้น พื้นฐานเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่งโดยเฉพาะเสถียรภาพด้านต่างประเทศ โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศระยะสั้นไม่สูงมาก และหนี้ภาคเอกชนก็อยู่ในระดับที่ไม่สูงเช่นกัน จึงเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก

“เราผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ โดยเฉพาะเครื่องมือ(ทางการเงิน)ของเรา ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากน้อยจะไม่เท่ากัน ขึ้นกับความแข็งแกร่งของฐานะด้านต่างประเทศ...ฐานะด้านต่างประเทศของไทยค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ตลาดคงไม่เหมาเข่งว่าจะกระทบกับทุกประเทศเท่าๆ กัน คิดว่าประเทศไทยจากฐานะด้านต่างประเทศที่ดี ก็น่าจะรับมือได้" นายจาตุรงค์ กล่าว

พร้อมเชื่อว่า แนวโน้มการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะไม่ปรับขึ้นในอัตราที่สูงและรวดเร็ว เพราะเชื่อว่าสหรัฐฯ ยังคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับตลาดการเงินโลกด้วย ซึ่งหากสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรงในท้ายสุดแล้วผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ก็จะย้อนกลับมาที่เศรษฐกิจของสหรัฐเอง

“น้อยคนที่จะคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและรุนแรง เพราะสหรัฐฯ อยู่ในโลก และไม่สามารถจะโตไปคนเดียวได้ หากขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและรุนแรง จะมี effect ต่อตลาดโลก และในที่สุดก็จะย้อนกลับมาที่สหรัฐด้วย รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์เอง ก็เป็นปัจจัยที่สหรัฐต้องคำนึงถึงด้วย" นายจาตุรงค์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ