นอกจากนั้น กรณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว โดยก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มาก่อนเกือบ 2 ปีแล้ว ดังนั้น เมื่อเกิดเหตการณ์ขึ้นจริงและไม่ได้เหนือความคาดหมาย จึงเชื่อว่า ธปท.จะมีมาตรการที่เตรียมพร้อมรองรับผลกระทบในด้านต่าง ๆ ไว้แล้ว โดยเฉพาะการดูแลความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่กังวลว่าอาจะเกิดขึ้นในระยะต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น
ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า มองว่าเฟดเดินมาถูกทางที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ตลาดได้มีเวลาปรับตัว ขณะที่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกน่ากังวลมากกว่า เพราะขณะนี้ยังมีความเปราะบาง รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวอาจจะมีผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย ซึ่งทั้งหมดนี้กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการไว้รองรับไว้แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถสรุปและเสนอรมว.คลังพิจารณาในเร็วๆ นี้
นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งล่าสุดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุดแล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยนั้น ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว ดังนั้น การคงดอกเบี้ยจึงถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด และถูกต้องที่สุด เพราะหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลง
ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปน่าจะมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แม้ยังมีความเปราะบาง รวมทั้งในปีหน้าประเทศไทยจะเน้นการลงทุนมากขึ้น และทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนตาม เมื่อเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นย่อมจะทำให้อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นตามหลักการ แต่คงจะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดด
"ปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย นอกจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นอย่างเปราะบาง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ยังต้องมาดูเรื่องของปัญหาภัยแล้ง และราคาน้ำมันที่ยังลดลงต่อเนื่อง เพราะจะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาการนำเข้าน้ำมันให้ปรับตัวลดลง ต้องมาดูตรงนี้ แต่ในส่วนราคาสินค้าเกษตรระยะต่อไปน่าจะปรับสูงขึ้น ส่วนราคาน้ำมันแม้จะลดแต่เชื่อว่าไม่เกิดวิกฤติ คาด GDP ปีนี้ขยายตัว 2.8% และปี 59 เป็น 3.8%"นายสมชัย กล่าว