นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัด
กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.) มีมติให้กำหนดเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงของเส้นทางบินภายในประเทศ โดยแยกเพดานค่าโดยสารขั้นสูงระหว่างสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ(Full Service) กับสายการบินต้นทุนต่ำ(Low Cost
Airline) ออกจากกัน จากปัจจุบันที่การบริการทั้งสองแบบใช้อัตราค่าโดยสารเพดานขั้นสูงเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นช่องทางที่ทำให้สายการบินต้นทุนต่ำขายตั๋วโดยสารในราคาสูงสำหรับผู้โดยสารที่ไม่ได้จองตั๋วล่วงหน้า และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องกำหนดอัตราค่าโดยสารเพดานขั้นต่ำในส่วนของสายการบินต้นทุนต่ำเพื่อให้เป็นกลไกการตลาด
ทั้งนี้ กบร.ได้มอบหมายให้กรมท่าอากาศยาน(ทย.) ไปพิจารณาต้นทุนการดำเนินงานของสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อกำหนดเพดานขั้นสูงอัตราใหม่ และมาเสนอที่ประชุม กบร.อีกครั้งในเดือนมกราคม 2559
ด้านนายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) กล่าวว่า กบร.เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องกำหนดเพดานขั้นต่ำของค่าโดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ เพราะผู้โดยสารได้ประโยชน์ และราคาที่ถูกในแต่ละครั้งที่สายการบินกำหนด ไม่ได้ขายราคาเดียวกันทั้งลำ เช่น ตั้งราคา 500 บาท 800 บาท ไม่ใช่ราคานี้ทั้งลำ จึงไม่มีเหตุต้องไปจำกัดราคาเพดานขั้นต่ำ โดยจะต้องดูในเรื่องบริการที่ต้องเหมาะสมกับบริการ Low Cost แต่ไม่ใช่ Low Service
อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/ธนวัฏ/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--