สศก.เผยปี 59 GDP ภาคเกษตรแนวโน้มฟื้นตัวมาที่ 2.5-3.5% จากปีนี้คาด -4.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 18, 2015 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 ซึ่งปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคเกษตรกลับมาขยายตัวได้ในปี 2559 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว มีการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเกษตรมากขึ้น เช่น โครงการ motor pool การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร และสถานการณ์ ดินฟ้าอากาศที่จะไม่รุนแรงไปกว่าปีนี้

อีกทั้งคาดว่าราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง รวมทั้งการกำหนดนโยบายด้านการเกษตรต่าง ๆ ของรัฐบาล ได้แก่ ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ การแก้ปัญหา IUU เขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (National Single Window: NSW) การพัฒนาแหล่งน้ำและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร การพัฒนาสหกรณ์ การกำหนดมาตรฐานบัญชีสหกรณ์ และเขตเกษตรเศรษฐกิจ (zoning) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยให้กลับมาฟื้นตัวในทิศทางบวก แต่อาจจะยังมีความเสี่ยงในเรื่องภาวะฝนทิ้งช่วงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกปี 2559 รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2558 พบว่า หดตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ ทั้งปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนเมษายน 2558 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตพืชไร่และข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชที่สำคัญของประเทศ ประกอบกับในเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเพาะปลูก หลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอความร่วมมือเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปในช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งในส่วนของการทำประมงหดตัว เป็นผลมาจากการยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงให้ถูกต้องและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ การลดต้นทุนการผลิต ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในส่วนของการผลิตสินค้าปศุสัตว์ มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยบวกส่งผลให้ผลผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาโรคตายด่วน ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงคลี่คลายลง ทำให้มีปริมาณผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรลดลงไปด้วย

หากจำแนกแต่ละสาขา จะพบว่า สาขาพืชในปี 2558 หดตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงและสภาพอากาศที่แปรปรวน สำหรับผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน โดยมันสำปะหลัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดีและความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น และอ้อยโรงงาน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งเสริมการปลูกอ้อยโรงงานของภาครัฐ

สาขาปศุสัตว์ในปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องจากระบบฟาร์มส่วนใหญ่มีมาตรฐาน มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่ดี ประกอบกับความต้องการของตลาดยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตสินค้าปศุสัตว์ ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ มีปริมาณออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ด้านราคา สินค้าปศุสัตว์ที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ เนื่องจากผลผลิตโคเนื้อยังไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค ทำให้ราคาสูงขึ้น ส่วนน้ำนมดิบมีราคาสูงขึ้นจากการปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น และการปรับตัวตามคุณภาพน้ำนมดิบที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนสินค้าปศุสัตว์ที่มีราคาเฉลี่ยลดลง ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ เนื่องจากการขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้นทำให้มีปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมาก

สาขาประมงในปี 2558 หดตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาประมงให้ถูกต้องและยั่งยืน ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดการทำประมง สำหรับกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง มีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคตายด่วนคลี่คลายลง ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ในส่วนของผลผลิตจากประมงน้ำจืดมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในแหล่งผลิตสำคัญ โดยราคากุ้งขาวแวนนาไมที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลดลง เนื่องจากผลผลิตกุ้งของไทยและประเทศคู่แข่งขัน เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย เอกวาดอร์ และเวียดนาม มีปริมาณมากขึ้น ทำให้การแข่งขันค่อนข้างรุนแรง เป็นผลให้ราคากุ้งในตลาดโลกลดลง และทำให้ราคาภายในประเทศลดลงตามไปด้วย

สาขาบริการทางการเกษตรปี 2558 หดตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และการให้บริการเกี่ยวนวดข้าวลดลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีและนาปรังลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง อย่างไรก็ตาม การขยายพื้นที่เพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น จากการส่งเสริมการปลูกอ้อยของรัฐบาลและโรงงานน้ำตาล ทำให้มีการใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถตัดและเก็บเกี่ยวอ้อยเพิ่มขึ้น

สาขาป่าไม้ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยผลผลิตป่าไม้สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส ถ่านไม้ รังนกนางแอ่น และครั่ง สำหรับไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดที่สูงขึ้น ประกอบกับการดำเนินโครงการควบคุมปริมาณการผลิตยางของภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากเข้าร่วมโครงการสงเคราะห์และส่งเสริมการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าที่ให้ผลผลิตไม่คุ้มค่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่น ผ่านการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จนมีพื้นที่ตัดโค่นเกินกว่าพื้นที่เป้าหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ