ความตกลง ITA Expansion เริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2555 มีเนื้อหาสำคัญคือ ให้การยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมพิเศษต่างๆ สำหรับการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ และรองรับพัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นการต่อยอดความสำเร็จของความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Agreement: ITA) ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2540
นายวินิจฉัย กล่าวว่า ความตกลง ITA Expansion จะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยในสินค้า IT เพราะไทยสามารถนำเข้าสินค้า IT ต้นน้ำ และกลางน้ำ มาเป็นวัตถุดิบการผลิตภาษีศูนย์ ซึ่งจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำลง นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการส่งสินค้า IT ไปประเทศที่ยังไม่มีการทำความตกลงการค้าเสรีกับไทย โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้ามอนิเตอร์ และสหรัฐฯ ยังเก็บภาษีร้อยละ 5 และกล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล และกล้องถ่ายบันทึกวิดีโอ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหภาพยุโรปฯ ที่มีการเรียกเก็บภาษีร้อยละ 14 อีกด้วย
ขณะนี้มีสมาชิกความตกลง ITA Expansion จำนวน 53 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (28 ประเทศ) ญี่ปุ่น แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเทนสไตน์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ มอนเตเนโกร แอลเบเนีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ คอสตาริกา กัวเตมาลา โคลอมเบีย อิสราเอล ตุรกี มอริเชียส จีน จีนไทเป เกาหลีใต้ และฮ่องกง ส่วนประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมการเจรจา ITA Expansion ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
ปัจจุบันมูลค่าการค้าสินค้าทั่วโลกภายใต้ความตกลง ITA Expansion มากกว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยสมาชิก WTO ที่ร่วมเป็นสมาชิกความตกลง ITA Expansion 25 ประเทศมีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณร้อยละ 90 ของการค้าโลก สำหรับไทยมีมูลค่าการค้าสินค้า ITA Expansion .นตลาดโลกประมาณ 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ(2.14 ล้านล้านบาท) รายการสินค้าที่ไทยส่งออกสูงสุด ได้แก่ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ตัวประมวลผลและตัวควบคุม กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพดิจิตัล กล้องถ่ายวิดีโอ และเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่น โดยไทยมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสาขา IT สูงถึง 70,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ซึ่งสูงสุดของการลงทุนทั้งหมด และมีการจ้างงานประมาณ 65,000 คน