ซึ่งนโยบายการเงินของแต่ละประเทศจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศนั้นๆ เอง อันจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะก่อให้เกิดกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่มีความผันผวนมากขึ้นในอนาคต และจะกลับทิศทางจากที่เคยเป็นอยู่ในปัจจุบัน
"ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เป็นกลุ่มประเทศที่อาจจะมีความเสี่ยง เพราะตอนที่มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่เยอะมาก โดยเฉพาะจากธนาคารกลางสหรัฐในช่วงที่ดอกเบี้ยถูกๆ จะเห็นเงินไหลเข้าไปสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งจะมีศักยภาพการเติบโตที่ดีกว่า แต่ช่วงที่ต้นทุนการเงินเริ่มจะแพงขึ้น เราจะเห็นสภาพคล่องบางส่วนหรือเงินทุนบางส่วนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งในกรณีนี้คืออเมริกา" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
พร้อมระบุว่า ผลกระทบจากภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละประเทศนั้นย่อมมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งหรือความอ่อนไหวในฐานะด้านต่างประเทศ ซึ่งในกรณีของประเทศไทยถือว่ายังมีความโชคดี เพราะไทยมีกันชนด้านต่างประเทศที่ดีอยู่หลายมิติ กล่าวคือ มิติแรก คาดการณ์ว่าไทยมีการเกินดุลการค้าค่อนข้างสูงมากในปีนี้ เนื่องจากไทยเองเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ซึ่งในปีนี้ราคาน้ำมันปรับตัวลงค่อนข้างมาก ประกอบกับการชะลอตัวของการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งมีผลทำให้ไทยน่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูง
มิติที่สอง สัดส่วนหนี้ต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยหนี้ระยะสั้นของไทยในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีเท่านั้น ซึ่งต่างจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศที่หนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ
มิติที่สาม บทบาทของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตราสารสำคัญ เช่น พันธบัตร, หุ้น โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าบทบาทของนักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนที่ลดลงในประเทศไทย โดยกรณีของประเทศไทยนั้นการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรของรัฐวิสาหกิจมีเพียง 8-9% ในขณะที่บางประเทศมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในส่วนนี้ถึง 50% ซึ่งจะทำให้เกิดความอ่อนไหวมากกว่าเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ เพราะมีโอกาสที่เงินจะไหลออกจากประเทศนั้นๆ กลับไปสู่สหรัฐฯ ได้มากกว่า
"ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เผชิญกับความผันผวน เรื่องของการบริหารความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทย นักลงทุนไทยต้องให้ความสำคัญมาก เพียงแต่เราอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่นๆ" นายวิรไท กล่าว
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรอบนโยบายการเงินที่ใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลัก (Inflation Targeting) แต่จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกรอบนโยบายเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงมีต่ำ ทำให้ธปท.สามารถให้น้ำหนักกับการดูแลด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น การดูแลอัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เป้าหมายเงินเฟ้อปี 59 อยู่ระหว่างรอการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยจะเน้นเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะปานกลางมากกว่าระยะสั้น นอกจากนี้ ธปท.จะพยายามเพิ่มการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพื่อให้การทำนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพ
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 59 เชื่อว่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและดีขึ้นกว่าปี 58 แต่อาจไม่กระจายตัวแบบทั่วถึง โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงมาตรการในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคภายในประเทศค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดีก็ตาม
อย่างไรก็ดี ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั้งจีนและเอเชียที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ และราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะปัญหาภัยแล้งยังคงมีอยู่และอาจรุนแรงขึ้นในปีหน้า ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาน้ำมันยังต่ำกดดันราคาพืชผลทางเกษตรลดลงต่อเนื่อง