เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้กระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์อย่างแพร่หลาย เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ให้คงความสดและสามารถวางจำหน่ายในตลาดได้นานขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไย ซึ่งการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในผลไม้สด มีโอกาสที่สารชนิดดังกล่าวจะตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องเร่งควบคุมกระบวนการรมเพื่อไม่ให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินกว่าข้อกำหนดตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของผลไม้ไทย และช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับสินค้าผลไม้ไทยในตลาดโลกด้วย
“ก่อนที่มาตรฐานบังคับฉบับแรกนี้จะมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทุกขนาด ทั่วประเทศกว่า 110 แห่ง จำเป็นต้องเร่งปรับตัวและเตรียมพร้อมรองรับการบังคับใช้มาตรฐานฯ โดยผู้ประกอบการ โรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกผลไม้ดังกล่าวที่มีการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะต้องยื่นขออนุญาตกับทาง มกอช. ในขณะเดียวกันโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้องขอการตรวจรับรองจากกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยตรวจ/หน่วยรับรองเอกชนที่ส่วนราชการรับรอง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 พฤษภาคม 2559"พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
ด้านน.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวย้ำว่า ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกผลไม้ดังกล่าว โดยเฉพาะลำไย ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานฯ โดยเร่งปรับปรุงโรงรม ห้องรม ระบบบำบัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและหลักปฏิบัติในมาตรฐานฯ ที่สำคัญต้องมีกระบวนการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์อย่างถูกต้องและถูกวิธี โดยเฉพาะโรงรมลำไยสด ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จตามกฎหมาย เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในรอบกลางปี 2559 ซึ่งจะทำให้การส่งออกลำไยสดเกิดความคล่องตัว และไม่มีปัญหาตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐานที่ประเทศ ผู้นำเข้าปลายทาง
ขณะนี้ผู้ส่งออกยังมีการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยสดเพื่อการส่งออกทั้งลำไยในฤดูและนอกฤดู ซึ่งตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูงโดยเฉพาะตลาดจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2558 ไทยมีการส่งออกลำไยสดแล้วกว่า 251,042.54 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,697.48ล้านบาท และคาดการณ์ว่าปีนี้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกลำไยสดจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อประกาศใช้หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นมาตรฐานบังคับแล้ว ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่า ต่อไปการบริโภคลำไยจะมีความปลอดภัยจากสารซัลเฟอร์ฯ หรือ กำมะถันมากขึ้น และลำไยจะสามารถส่งออกไปขายประเทศต่างๆ ได้โดยไม่เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา