อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกที่ 5% ดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี 59 จะขยายตัวได้ 3.6%, ปริมาณการค้าโลกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.4%, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในการสนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs ด้านการเงิน และส่งเสริมธุรกิจที่มีนวัตกรรม, นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ และการกำหนดเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ, การเปิดเสรีการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้า
อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยในปีหน้ายังมีปัจจัยลบที่จะต้องติดตาม คือ ราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกปรับตัวลดลง, ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมีให้มีราคาส่งออกที่ลดลงด้วย และที่สำคัญเมื่อประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงแล้ว ก็จะส่งผลต่อเนื่องมาถึงรายได้ที่ลดลงและทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดน้อยลงด้วย, อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังมีความผันผวน และปัจจัยสุดท้ายเรื่องภัยจากการก่อการร้าย
นางมาลี กล่าวว่า สำหรับ 10 สินค้าที่คาดว่าในปีหน้าจะยังมีการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกได้ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน, อัญมณีและเครื่องประดับ, ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, วัสดุก่อสร้าง, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องสำอางค์ และเภสัชภัณฑ์, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และสินค้าของขวัญ ของชำร่วย ของตกแต่งบ้าน และธุรกิจบริการอีก 6 ประเภท คือ ธุรกิจสปา บริการด้านสุขภาพ, ธุรกิจบันเทิง, การขนส่งและโลจิสติกส์, ธุรกิจสถาบันการศึกษา, โรงพยาบาล และธุรกิจก่อสร้าง และออกแบบตกแต่งภายใน
ขณะที่สินค้าที่ปีหน้าอาจยังมีทิศทางการส่งออกที่ไม่สดใส ได้แก่ สินค้าประมง อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง, เครื่องนุ่งห่ม ผ้าผืน และด้าย, ผลิตภัณฑ์ยาง
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวด้วยว่า เป้าหมายการส่งออกสำหรับรายตลาดในปีหน้า โดยรวมแล้วตลาดหลักยังสามารถเติบโตได้จากปีนี้ โดยตลาดสหรัฐ คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% สหภาพยุโรป 2.8% อาเซียน 6% กลุ่ม CLMV 13.6% จีน 3.5% อินเดีย 9% และออสเตรเลีย 10% ส่วนตลาดส่งออกที่คาดว่ายังไม่สามารถเติบโตได้ดีในปีหน้า เช่น ตลาดญี่ปุ่น คาดว่าจะหดตัว 1.5% ตะวันออกกลาง หดตัว 3% แอฟริกา หดตัว 8%
โดยแผนงานสำคัญในตลาดหลัก เช่น ตลาดสหรัฐ จะเจาะกลุ่มลูกค้า Hispanic การขายสินค้าผ่าน E-Commerce และทีวีช้อปปิ้ง ตลาดญี่ปุ่น เจาะกลุ่มเฉพาะผู้สูงอายุ กลุ่มสถาบัน โรงแรม ร้านค้า ตลาดสหภาพยุโรป เจาะกลุ่มเฉพาะผู้สูงอายุ กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ส่วนตลาดใหม่ เช่น ตลาดรัสเซีย จะเน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค, สินค้าข้าว และไก่ ตลาดอิหร่าน จอร์แดน จะเพิ่มการเจรจาเปิดตลาดและกระชับความสัมพันธ์ เน้นไปที่สินค้าข้าว และยางพารา ตลาดแอฟริกา จะเน้นการเจรจาเปิดตลาดและกระชับความสัมพันธ์ โดยเน้นสินค้ากลุ่มข้าว และนำเข้าวัตถุดิบอัญมณี ส่วนตลาดในเอเชีย เช่น ตลาดอาเซียน จะเน้นทั้งด้านการค้าการลงทุน จัดงาน Top Thai Brand ใน 6 เมืองหลัก และจัด Mini Thailand Week 15 ครั้งในเมืองรอง ส่วนตลาดจีน จะขยายตลาดเมืองรองเพิ่มเติม เช่น เฉิงตู หนิงเซียะ ฉงชิ่ง ฝูโจว หนานจิง กุ้นหลิน และอู๋ฮั่น ขณะที่ตลาดอินเดีย จะมีการจัดงาน Thailand Week ใน 3 เมือง คือ เจนไนบังกาลอร์ และจัณฑิการ์