นายกฯเผยทัพบกถอนตัวโซลาร์ฟาร์มราชการฯหลังติดขัดกม.,พลังงานเล็งเปิดยื่นระยะ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 21, 2015 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุสาเหตุที่หน่วยงานสังกัดกองทัพบก ขอถอนตัวจากการเข้าร่วมเป็นผู้เสนอขายไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะที่ 1 เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายที่เป็นพื้นที่ราชพัสดุซึ่งไม่สามารถนำไปหาประโยชน์ได้ ขณะที่รมว.พลังงาน เตรียมเชิญกระทรวงการคลังหารือข้อกฎหมายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯต่อไป โดยหากพบว่าหน่วยงานราชการไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะยกยอดไปเปิดในระยะที่สองต่อไป

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผ่านมามีปัญหาหลังจากที่รัฐบาลที่ผ่านมาได้อนุมัติให้ทำโครงการโดยไม่ได้พิจารณาเรื่องระบบสายส่งว่ามีเพียงพอหรือไม่ จนทำให้เกิดปัญหาตามมา ซึ่งรัฐบาลก็กำลังดำเนินการแก้ปัญหาอยู่ โดยต้องวางแผนการใช้พลังงานในอนาคต แต่ก็ต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) หรือพ.ร.บ.ร่วมทุนฯด้วย

ในส่วนของหน่วยงานสังกัดของกองทัพบกที่ยื่นเรื่องขอดำเนินการทำโซลาร์ฟาร์มนั้น ก็ได้ถอนตัวไปแล้วเพราะติดขัดในเรื่องของการใช้พื้นที่ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งติดขัดในเรื่องของกฎหมาย ที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาสมัยตนเองดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก็ได้ทักทวงรัฐบาลในขณะนั้นไปแล้ว

ด้านพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์มในปัจจุบันยังติดปัญหาพ.ร.บ.ร่วมทุนฯของหน่วยงานราชการ ดังนั้น ทางกระทรวงพลังงานจะเชิญกระทรวงการคลังในฐานะผู้รับผิดชอบพ.ร.บ.ร่วมทุนฯมาหารือเพื่อตีความเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ว่ามีกฎหมายยกเว้นหรือไม่ ขณะเดียวกันขอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เลื่อนการจับสลากผู้ที่ยื่นเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาออกไปเป็นช่วงเดือนม.ค.59 อย่างไรก็ตามหากหน่วยงานราชการไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะยกยอดไปเปิดในระยะที่สองต่อไป

อนึ่ง กกพ.ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ โดยการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวมีปริมาณรวมไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ แบ่งการรับซื้อเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(SCOD) ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.59 ส่วนระยะที่สอง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.61 โดยได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติโครงการดังกล่าวมีทั้งสิ้น 219 ราย จำนวนรวม 1,028.67 เมกะวัตต์ เพื่อเข้าร่วมจับสลากในวันที่ 11 ธ.ค. ก่อนจะเลื่อนการจับสลากออกไปเป็นวันที่ 22 ธ.ค.เพราะมีผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติร้องเรียนหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่ติดกฎหมายผังเมืองไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้า ถึงแม้จะอยู่ในเขตพื้นที่ตามประกาศข้อมูลศักยภาพของระบบไฟฟ้าก็ตาม

ขณะเดียวกันหน่วยงานในสังกัดกองทัพบกที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น ได้ขอถอนตัวการเข้าร่วมจับสลากดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าโครงการที่ผ่านคุณสมบัติดังกล่าวยังไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และต่อมาทางกกพ.ก็ได้เลื่อนการจับสลากออกไปอีกเป็นครั้งที่สอง และระบุว่าจะแจ้งกำหนดการอีกครั้งภายในเดือนม.ค.59

พลเอกอนันตพร กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)มีมติให้คณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) แต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กกพ. ผู้ประกอบการ ตัวแทนกระทรวงพลังงาน นักวิชาการ เป็นต้น เพื่อเข้ามาพิจารณาหาข้อยุติกรณีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลยื่นหนังสือขอปรับราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่ จากเดิมเป็นระบบ Adder เป็นระบบ FiT คาดว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการฯภายในต้นเดือนม.ค.59


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ