สำหรับมูลค่าการใช้จ่ายที่ 125,015 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็นการเลี้ยงสังสรรค์ 9,012.34 ล้านบาท ทำบุญ 7,254.89 ล้านบาท ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 14,783 ล้านบาท ซื้อสินค้าคงทน 1,076.44 ล้านบาท ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 771.23 ล้านบาท ไปเที่ยวในประเทศ 54,485.10 ล้านบาท และเที่ยวต่างประเทศ 37,631.87 ล้านบาท และหากแบ่งการใช้จ่ายเป็นของคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบว่า เป็นการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ 61,595.35 ล้านบาท และของคนต่างจังหวัด 63,419.59 ล้านบาท
ส่วนแหล่งที่มาของเงินใช้จ่ายนั้น ผู้ตอบส่วนใหญ่ 53.4% ตอบมาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ รองลงมาคือ 23.2% มาจากเงินออม, 22.3% มาจากโบนัส/รายได้พิเศษ และอีก 1.1% มาจากแหล่งอื่นๆ สำหรับของขวัญยอดนิยมในช่วงปีใหม่ ได้แก่ กระเช้าของขวัญ เงินสด/เช็คของขวัญ กระเช้าผลไม้ เครื่องดื่มบำรุง ของรับประทาน สุรา/ไวน์ ดอกไม้ จัดเลี้ยง/สังสรรค์ให้ สินค้าคงทน การ์ดอวยพร เสื้อผ้า สินค้าหัตถกรรมไทย สลากกินแบ่งรัฐบาล/เสี่ยงโชค เป็นต้น
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มูลค่าการใช้จ่ายปีนี้ที่ 125,015 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการขยายตัวที่ 6.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี ถือว่าไม่สูงมากนัก เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค หากเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจดี อัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 10%