โดยจะนำมาสู่ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน (Payment Infrastructure Development) (2) การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax System) (3) การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งบูรณาการระบบสวัสดิการสังคม (Social Welfare) (4) การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) และ (5) การส่งเสริม e-Payment ในทุกภาคส่วน (Cashless Society) อันจะทำให้ธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ดำเนินไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นกลไกสำคัญในการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจและของประเทศไทย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างความมั่นคงให้กับระบบบริหารจัดการการเงินการคลัง อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์นี้ยังจะช่วยสนับสนุนนโยบายอื่น ๆ ของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น นโยบาย Digital Economy โครงการระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม นโยบายกองทุนการออมแห่งชาติ นโยบายการส่งเงินช่วยเหลือแก่ประชาชนในกรณีต่างๆ ของภาครัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ National e-Payment Master Plan ประกอบด้วยแผนงานสำคัญ 5 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID (นานานาม) (2) โครงการการขยายการใช้บัตร (3) โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (4) โครงการ e-Payment ภาครัฐ และ (5) โครงการการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในการขับเคลื่อนโครงการทั้ง 5 จะดำเนินการผ่าน “คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment" โดยจะเร่งดำเนินการตามแผนและคาดว่าในส่วนแรกจะพร้อมใช้งานได้ในช่วงกลางปี 2559
นอกจากนั้น การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ยังมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้ง (1) ด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย (Competitiveness) ซึ่งประเมินโดย World Economic Forum จากการนำเทคโนโลยีไปใช้ในภาคธุรกิจมากขึ้นซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ และจากการปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานด้านสถาบันของประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้งบประมาณลดปัญหาการคอรัปชั่น และลดภาระของภาคธุรกิจจากกฎระเบียบภาครัฐ (2) ด้านอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ในส่วนของการชำระภาษี และ (3) ด้านดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ของ United Nations Development Programme โดยเฉพาะในมิติด้านความเหลื่อมล้ำในกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จากการที่สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือและเงินสวัสดิการได้อย่างทั่วถึงและเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ(National e-Payment Master Plan) ซึ่งเป็นลดการทำธุรกรรมด้วยเงินสดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนให้กับระบบธนาคารได้ราวปีละ 3 หมื่นล้านบาท และระบบธุรกิจอีก 4.5 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 7.5 หมื่นล้านบาท/ปี
นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน การเข้าถึงผู้มีรายได้น้อยเรื่องการจัดสวัสดิการ การขยายฐานการจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น
"จะเป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก เมื่อไปถึงจุดหนึ่งเราจะใช้เงินสดน้อยลง เราดูต้นแบบมาจากประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งจะใช้เป็นพื้นฐานในการทำอีคอมเมิร์ช" นายอภิศักดิ์ กล่าว
นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้นำงบที่เหลือจากโครงการคอมพิวเตอร์แบบพกพา 3,756 ล้านบาทมาใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ รวม 24 โครงการเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายนี้
"หากทำไม่จบในรัฐบาลนี้ก็คงเป็นแค่อนุสาวรีย์" นายอุตตม กล่าว
รมว.ไอซีที กล่าวว่า การดำเนินโครงการ Any ID จะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 59 ส่วนโครงการตั๋วร่วมจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3-4 ของปี 59 ซึ่งกระทรวงฯจะเสนอแผนยุทธศาสตร์ฯให้ ครม.พิจารณาในเดือน ม.ค.59
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นการบูรณาการเพื่อพัฒนาด้านการเงินที่ดีขึ้น เพราะในอดีตทำได้ลำบาก