ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (89) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร“(89) เงินได้ที่ได้รับจากส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ที่ได้รับจาก
(ก) การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมอันได้มาโดยทางมรดก หรือได้รับจากการให้โดยเสน่หา ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามส่วน 2 หมวด 3 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) ดอกเบี้ยเงินฝากตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร และถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน"
ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
โดยมี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังเป็นผู้ลงนาม
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 ได้ยกเลิกมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร และได้นิยามคำว่า“คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล" หมายความว่า บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกันอันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ" ทำให้บุคคลในคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรจากคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่บุคคลในคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ
สำหรับการดำเนินการบางกรณี สมควรกำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลที่ได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมอันได้มาโดยทางมรดกหรือได้รับจากการให้โดยเสน่หา และดอกเบี้ยเงินฝากตามมาตรา 40 (4) (ก) เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวง