"การเลื่อนจับสลากเพราะมีผู้มาร้องเรียนจำนวนมากซึ่งคงต้องใช้เวลาตรวจสอบสิทธิ แต่เรายืนยันที่จะใช้ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤศจิกายนที่เราปิดให้ยื่นเอกสารการเสนอขายไฟฟ้าเพิ่มเติมเป็นหลักในการพิจารณาคุณสมบัติ"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวอีกว่า การเลื่อนโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ระยะแรกออกไป เพราะต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากที่ผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 385 รายได้มายื่นขอตรวจสอบข้อมูลถึงสาเหตุที่ไม่ผ่านการพิจารณา โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผังเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถสร้างโครงการได้หรือไม่ หลังหนังสือจากกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ผู้ยื่นขอเสนอทำโครงการแนบเข้ามานั้นระบุไว้เป็นกลางๆ ไม่มีความชัดเจน ทำให้ขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นนั้นอาจคลาดเคลื่อนบ้าง
รวมถึงยังปัญหาที่ดินที่เชื่อมโยงกับ Feeder (จุดเชื่อมต่อ) ที่อาจมีความคลาดเคลื่อนหลังบางพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนชื่อตำบล ,การพิจารณาทุนจดทะเบียนของแต่ละโครงการ เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณา
นอกจากนี้ยังมีประเด็นในส่วนของโครงการส่วนราชการที่อาจไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดเรื่องพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) หรือพ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งตามการประกาศรับซื้อของกกพ.ระบุไว้ชัดเจนว่าโครงการที่จับสลากได้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆให้เรียบร้อยก่อนจะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ต่อไป ซึ่งในส่วนนี้คงต้องหารือกับหน่วยงานรัฐว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป
เบื้องต้นกกพ.ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ขอถอนตัวจากการจับสลากโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯครั้งนี้ แม้จะผ่านคุณสมบัติรวม 4 โครงการ โดยไม่ได้ให้เหตุผล ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ากองทัพบกขอถอนตัวจากโครงการเช่นกันนั้น ขณะนี้ทางกกพ.ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ
นายวีระพล กล่าวว่า ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff (FiT) ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา เป้าหมายไม่เกิน 46 เมกะวัตต์นั้น คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในไตรมาส 1/59 ควบคู่กันไปกับโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ระยะแรกได้
หลังจากนั้นคาดว่าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ FiT ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการรับซื้อทั่วประเทศนั้น โดยจะเน้นในส่วนของก๊าซชีวภาพ และชีวมวล ราว 500 เมกะวัตต์นั้น จะมีขึ้นในช่วงกลางปี 59 ซึ่งจะสามารถทำให้สามารถเคลียร์ปัญหาสายส่งได้ระดับหนึ่ง และตามแผนในช่วงปลายปี 60 ถึง 61 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ก็จะสร้างสายส่งใหม่เพิ่มเติมแล้วเสร็จ ซึ่งทำให้คาดว่าในช่วงปลายปี 59 จะสามารถเคลียร์สายส่งว่าจะคงเหลือรองรับการผลิตไฟฟ้าใหม่จากพลังงานทดแทนได้จำนวนเท่าใด ก็จะสามารถประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ระยะที่ 2 ได้ในช่วงปลายปี 59
ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลได้วางนโยบายไว้ชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการประมูล ซึ่งในส่วนนี้ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นเสนอโครงการเข้ามาได้เลย โดยในส่วนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กันสายส่งเพื่อรองรับไว้แล้ว โดยสำหรับขยะชุมชน ระยะแรกจะมีจำนวน 104 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรมม 50 เมกะวัตต์