"สมคิด"แจงแผนดูแลเศรษฐกิจทุกระดับ คาดอีก 7 ปีเข้าสู่งบประมาณสมดุล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2015 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลด้านการดูแลเศรษฐกิจในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่า ในช่วงที่เข้ามาบริหารงานนั้นได้เผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาหลัก 2 เรื่อง ประการแรก คือภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนกำลัง จากเหตุผลคือราคาสินค้าเกษตรตกต่ำแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งปัญหาข้าว ยางพารา ซึ่งมีคนไทยไม่น้อยกว่า 20-30 ล้านคนที่เป็นเกษตรกรได้รับผลกระทบ ดังนั้นเมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงทำให้อำนาจซื้อหดหาย อุปสงค์ในตลาดก็หาย

นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสูงถึง 70% ของ GDP ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา อำนาจซื้อในระบบก็หายไป และปัญหาสุดท้าย คือ คนไทยขาดความเชื่อมั่นอย่างมาก ด้วยผลพวงจากภาวะเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ทั้งความไม่สงบ ความไม่มีเสถียรภาพ และข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในทุกวัน ซึ่งถ้าคนไทยไม่เชื่อมั่น อย่าหวังว่านักลงทุนต่างประเทศจะเชื่อมั่น เกิดการชะลอการลงทุน เพื่อดูว่าประเทศไทยนั้นอนาคตจะเป็นอย่างไร

"เราเจอภาวะแบบนี้ ผลคือผมจำได้ว่าเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มถดถอย ดัชนีทุกตัวเริ่มตก ภาวะเช่นนั้น มันแย่หรือยัง มันยังไม่ถึงกับว่าแย่ แต่ว่ามันอันตราย ถ้าไม่สามารถตัดตอนตอนนั้นได้จะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และจะฉุดขึ้นมานั้นยากมาก"นายสมคิด กล่าว

ปัญหาอีกด้านคือ ไทยกำลังประสบปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย คือ ระบบเศรษฐกิจโครงสร้างของไทยเริ่มไม่สมดุล เพราะการเติบโตในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ลงสู่ชนบทฐานราก การเจริญเติบโตกระจุกตัวที่อุตสาหกรรม เกิดความไม่เท่าเทียมกันของในประเทศ และทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องพึ่งพาการส่งออก เพราะไม่สามารถพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม การมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจ สิ่งที่ดีคือจะต้องอิงเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา คือ ความชัดเจนของการทำงาน ความมุ่งมั่นในการเดินตามแผน และมีมาตรการที่จับต้องได้ เพื่อก่อให้เกิดการหมุนเวียนเชิงเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยยืนยันว่าโครงการต่างๆ ไม่ใช่การทำประชานิยม แต่เป็นการออกมาตรการเพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบปัญหา ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ที่มีรายได้น้อย ตั้งแต่การเร่งรัดโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท กองทุนหมู่บ้าน และมาตรการช่วยเหลือ SMEs เรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

"สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ จะเกิดช่องโหว่มหาศาลในระบบเศรษฐกิจ ผมไม่สนใจ ใครจะเรียกประชานิยม เพราะผมทำเพื่อประชาชน และสิ่งที่ผมคิดเมื่อ 10 กว่าปีก่อนไม่ใช่นโยบายประชานิยม เป็นงบประมาณรายจ่ายเพื่อประชาชนจะต้องแข็งแรงขึ้น เป็นการทำนโยบายประชารัฐเพื่อประชาชนในวันนี้" นายสมคิด กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ไตรมาส 4/58 จะเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ที่ผ่านมาที่เติบโตได้ 2.9% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไม่ได้สำคัญมากไปกว่าการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ในเรื่องของโครงสร้างการผลิตของประเทศเป็นเรื่องใหญ่มาก อุตสาหกรรมที่เคยรุ่งโรจน์ เทคโนโลยี มูลค่าเพิ่ม สิ่งทอของไทยเริ่มด้อยลง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยปัจจุบันการพัฒนาไม่เทียบเท่าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงที่ประเทศอื่นเป็น การปฏิรูปตรงนี้ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดอุตสาหกรรมเดิม และเพิ่มเติมอุตสาหกรรมใหม่ รวม 10 อุตสาหกรรม สำหรับแนวคิดการสร้างคลัสเตอร์นั้น เพื่อระดมสำนักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อมาช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

"สิ่งจำเป็น ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ต้องมีเทคโนโลยี ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว ท่านนายกฯ จะลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารคลัสเตอร์ในช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อเป็นคณะทำงานในการบริหาร 10 อุตสาหกรรมที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้กับประเทศในอนาคต"นายสมคิด กล่าว

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตมีกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพ โดยที่ผ่านมายอมรับว่ายังดำเนินการได้ช้า เพราะอยู่ช่วงการออกแบบ แต่ในปีหน้ายืนยันว่าจะมีโครงการที่เดินหน้ารวมทั้งสิ้น 14 โครงการ งานจะเริ่มเดิน เงินจะเริ่มลงสู่ระบบ ซึ่งขณะนี้มีในโครงการที่อยู่ใน PPP Fast Track รวม 5 โครงการ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งรัดการลงทุนให้รวดเร็วที่สุด และเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอีกเรื่องคือ Digital Economy ซึ่งจะเน้นการประยุคใช้ดิจิทัลในทุกมิติ โดย รมว.ไอซีที ระบุว่า จะมีบอร์ดแบนด์ใช้ทั่วประเทศในอีก 2 ปีข้างหน้า

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของการเดินหน้า E-Payment นั้น มั่นใจว่าปีหน้าจะได้เห็นอย่างแน่นอน และมั่นใจว่าอีก 7 ปีข้างหน้าจะเริ่มเข้าสู่งบประมาณสมดุล และจะดูแลหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 50% ของ GDP

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง แถลงผลการทำงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า กระทรวงการคลังได้ดูแลเศรษฐกิจไทยให้เติบโตโดยไม่ให้เกิดการทรุดตัว และสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง และพร้อมจะเข้าไปดูแลภาคธุรกิจที่ประสบปัญหา

"ภาพรวมเศรษฐกิจ สิ่งที่ทำประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อาจเติมบ้างระหว่างทาง หาก sector ไหนลำบาก เราไม่ปล่อยให้ sector นั้นลำบาก ถ้าลำบากจะลงไปช่วย"นายอภิศักดิ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรด้วยการเติมเงินลงไปในระบบผ่านกองทุนหมู่บ้าน ช่วยเหลือกลุ่ม SMEs โดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวลง และได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลกลุ่มอุตสาหกรรม 10 กลุ่มอุตสาหกรรม จัดตั้งกองทุน Thailand Future Fund เพื่อดูแลในเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในโครงการลงทุนขนาดใหญ่

สำหรับการปฏิรูปด้านภาษีนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า จะมีการปฏิรูปภาษีเพื่อให้มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีมากขึ้น ซึ่งแนวทางจะไม่ใช้การขึ้นอัตราภาษีแต่จะใช้การขยายฐานภาษีให้มากขึ้น รวมถึงจะมีการอำนวยความสะดวกในการชำระภาษี พร้อมกันนี้จะมีการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่เพื่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ