ทั้งนี้ S&P's เห็นว่า ปัจจัยที่สนับสนุนอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ได้แก่ ดุลและสภาพคล่องภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ระดับหนี้ของรัฐบาลที่อยู่ในระดับปานกลาง รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่มีประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของไทยยังคงมีระดับรายได้ต่ำโดยเปรียบเทียบ และประเด็นความไม่แน่นอนทางเมืองที่ยังคงมีอยู่ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ได้แก่ ดุลภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่ง และระดับสภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่มากเพียงพอ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดที่แข็งแกร่งและการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องทำให้ ณ สิ้นปี 2558 ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอสำหรับรองรับการชำระบัญชีเดินสะพัดถึง 7 เดือน (เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีมูลค่า 157.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 11 ธ.ค.58) และ S&P’s คาดการณ์ว่าในปี 2559 จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้สุทธิกับต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 17 ของรายรับบัญชีเดินสะพัด ซึ่งแสดงถึงฐานะการลงทุนระหว่างประเทศของไทยที่มีสินทรัพย์ต่างประเทศมากกว่าหนี้สินต่างประเทศ
ตัวชี้วัดด้านสภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศของไทยจะยังคงแข็งแกร่ง โดยความต้องการระดมทุนที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศโดยรวมระหว่างปี 2558 – 2560 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 74 ของรายรับบัญชีเดินสะพัดรวมกับเงินทุนสำรองที่สามารถนำมาใช้ได้ และแม้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาคการส่งออกจะหดตัวและอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาคการส่งออก แต่ต่อมาได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลงและอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ซึ่ง S&P’s คาดการณ์ว่า บัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลที่ระดับเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 5 ของ GDP ในช่วงปี 2558 – 2560 ทั้งนี้ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนที่ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 30 ของ GDP ในปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 24 ของ GDP ในปี 2558 ซึ่งเกิดจากความล่าช้าในการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยการลงทุนจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงในระยะยาว
ทั้งนี้ S&P’s คาดว่า การขยายตัวของ GDP ที่แท้จริงในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ร้อยละ 3 – 4 ต่อปี และในปี 2558 รายได้ต่อหัวของประชากรจะต่ำกว่า 6,000 เหรียญสหรัฐเล็กน้อย
จากการที่รัฐบาลยังคงกำหนดดุลการคลังเบื้องต้นให้อยู่ในระดับเกินดุล ได้ช่วยรักษาหนี้ของรัฐบาลให้อยู่ในระดับปานกลาง โดย S&P’s คาดว่า รัฐบาลจะทยอยรับความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลได้ประมาณภาระทางการคลังจากโครงการดังกล่าวไว้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 3.7 ของ GDP ของปี 2558 และคาดการณ์ว่า หนี้สุทธิของรัฐบาลต่อ GDP จะทยอยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 ในปี 2556 มาอยู่ที่ร้อยละ 26 ในปี 2561 ในขณะที่ต้นทุนดอกเบี้ยในส่วนของหนี้รัฐบาลที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5.5 ของรายรับของรัฐบาลจะไม่เป็นข้อจำกัดทางการคลังของประเทศ เสถียรภาพด้านราคาและระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวเป็นปัจจัยหลักของพื้นฐานความน่าเชื่อถือและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ดี S&P’s มองว่าส่วนต่าง (Margin) ของธนาคารพาณิชย์ที่กว้างแสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของระบบการเงิน นอกจากนี้ การขยายตัวของสินเชื่อของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 100 ของ GDP ในปี 2552 เป็นร้อยละ 124 ของ GDP ในปี 2557 ทั้งนี้ S&P’s ประเมินความเสี่ยงภาคธนาคารของประเทศไทยไว้ในกลุ่มที่ 6 (กลุ่ม 1 = มีความเสี่ยงต่ำที่สุด กลุ่ม 10 = มีความเสี่ยงมากที่สุด)
ขณะที่ แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ (Outlook) แนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพเป็นการแสดงว่า โอกาสที่ S&P’s จะเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยภายใน 2 ปี ข้างหน้า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ (น้อยกว่า 1 ใน 3) โดย S&P’s มั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศ ภาคการคลัง และภาคการเงินไว้ได้แม้ว่าจะยังคงมีความไม่แน่นอนทางการเมือง