ทั้งนี้ตามนโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน บีโอไอได้กำหนดกิจการ 15 ประเภทสำหรับกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ที่เป็นกิจการที่มีผู้ผลิตน้อยรายและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอาทิ กิจการผลิตชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง หรือเกียร์ กิจการผลิตชิ้นส่วนระบบความปลอดภัย หรือ ชิ้นส่วนถุงลมนิรภัย และกิจการผลิตชิ้นส่วนระบบเครื่องยนต์ เช่น Turbocharger เป็นต้น โดยผู้ผลิตต้องมีแผนการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาของไทย
"ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในอาเซียน และเมื่อรัฐบาลมุ่งเน้นส่งเสริมคลัสเตอร์ที่มีความชัดเจนก็จะช่วยผลักดันให้การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยก้าวไปสู่ระดับแนวหน้าของโลกมากขึ้น และจะกระตุ้นให้นักลงทุนกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุนผลิตชิ้นส่วนใหม่ๆ เพิ่ม จากปัจจุบันที่มีผู้ผลิต 100 อันดับแรกของโลกเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว 57 ราย" น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าว
โครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในช่วงปี 2557-2558 พบว่ามีหลายโครงการเป็นการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ เช่น โครงการผลิตไส้กรองอากาศที่ทำจากเซรามิกส์ที่มีความละเอียดสูงมาก ของบริษัท NGK Ceramics ผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกจากประเทศญี่ปุ่น โครงการผลิตอุปกรณ์กำเนิดก๊าซสำหรับถุงลมนิรภัยในรถยนต์ (Airbag Inflator) ของบริษัท DAICEL SAFETY SYSTEMS ซึ่งถือเป็นผู้ผลิต Airbag Inflator รายแรกในไทย และใช้ไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่เป็นฐานการผลิตทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตเทอร์โบชาร์จเจอร์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตชั้นนำของโลก 3 ใน 4 รายตั้งฐานการผลิตในไทย ได้แก่ IHI Turbo และ Mitsubishi Turbocharger Asia จากประเทศญี่ปุ่น และ Borgwarner จากสหรัฐอเมริกา, โครงการผลิตเครื่องปรับอากาศสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของบริษัท MSI Automotive ซึ่งจะเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ช่วยลดการใช้พลังงานในระบบแอร์รถยนต์และช่วยให้รถวิ่งได้ระยะทางไกลมากขึ้น, โครงการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยในรถยนต์ อาทิ ระบบเบรก ABS ป้องกันไม่ให้ล้อล็อคเมื่อมีการเบรคฉุกเฉิน และระบบ ESC ซึ่งเป็นระบบควบคุมการทรงตัวของรถไม่ให้เสียหลักขณะเข้าโค้งหรือพื้นถนนลื่น ของบริษัท ROBERT BOSCH AUTOMOTIVE TECHNOLOGIES
สำหรับการผลิตเครื่องยนต์ก็มี โครงการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่ขนาด 1,900 ซีซี ของบริษัท อีซูซุ ที่มีแรงบิดเท่ากับเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2,500 ซีซี ทำให้ประหยัดน้ำมันได้มากกว่า และมีน้ำหนักเบา ซึ่งถือเป็นการผลิตแห่งแรกของโลกในประเทศไทย
ในด้านผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาง มีโครงการผลิตยางสำหรับอากาศยานของบริษัท มิชลิน และโครงการผลิตชิ้นส่วนยางสำหรับรถยนต์ และยางสายพานสำหรับรถยนต์ ของบริษัท บริดจสโตน ซึ่งโครงการของทั้งมิชลินและบริดจสโตนที่มีการลงทุนในไทยมานานและได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยดึงกลุ่มบริษัทในเครือเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นด้วย
ในส่วนยานยนต์ประเภทอื่นๆ ที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก ได้แก่ โครงการผลิตรถแทรกเตอร์แบบ TRACK-TYPE TRACTOR สำหรับงานก่อสร้าง งานเหมือง ของบริษัท แคทเธอร์พิลลาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CATERPILLAR ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การก่อสร้าง การทำเหมือง ป่าไม้ เรือ อันดับต้นๆ ของโลก โครงการนี้จะผลิตรถแทรกเตอร์ ขนาด 150-400 แรงม้า รายแรกในประเทศไทย และใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก
ส่วนการผลิตรถจักรยานยนต์นั้น ปัจจุบันผู้ผลิตรายใหญ่ชั้นนำของโลกต่างใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ตั้งแต่ 248 ซีซี ขึ้นไป ได้แก่ บริษัท ไทรอัมพ์ บริษัท คาวาซากิ บริษัท ดูคาติ
ขณะนี้บีโอไออยู่ระหว่างชักชวนกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลกอีกหลายรายให้เข้ามาลงทุนในไทยภายใต้นโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์ยานยนต์ ซึ่งคาดว่าในช่วงต้นปี 2559 น่าจะมีโครงการสำคัญๆ ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมอีก