- การเปิดประตูการค้าและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Market Access and Economic Cooperation รวมทั้งการเจรจาการค้าในกรอบ FTA เพิ่มขึ้น
- การเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต (Demand Driven) หรือกำหนดสินค้า/บริการที่จะผลักดันการส่งออก และมีการกำหนดกลยุทธ์เชิงลึกลงถึงในระดับเมือง (city focus) มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่ๆ การเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ (niche market) และช่องทางการค้าออนไลน์
- การเป็นศูนย์กลางอาเซียน เน้นชายแดน (ASEAN Hub: Border Trade Focus) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ASEAN ในการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ทั้งในด้านทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในประเทศ CLMV จีน และอินเดีย
- การประกอบธุรกิจและการลงทุนในต่างประเทศ (Outward Investment & Internationalization) เพื่อต่อยอดการค้าระหว่างประเทศ ขยายฐานธุรกิจไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ
- การปรับโครงสร้างการค้าสู่การค้าบริการ (Trade in Services) เพื่อเป็นจักรกลใหม่ (New Engine) ในการขับเคลื่อนการค้า จากเดิมที่มีการพึ่งพาหรือให้ความสำคัญกับการค้าสินค้า (Trade in Goods) เป็นหลัก
- การส่งเสริม SMEs เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation -Driven Enterprises: IDEs) และเพิ่มบทบาทของ SMEs ในการผลักดันการค้า
- การสร้างสรรคุณค่า (Value Creation) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการส่งออกจากเดิมที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต (OEM) สู่ผู้ประกอบการที่มีการออกแบบ (original design manufacturer: ODM) หรือผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตนเอง (original brand manufacturer: OBM)
- การสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น (Local Economy) อาทิ ตลาดชุมชน คลัสเตอร์ในแต่ละภูมิภาค เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ให้มีความเข้มแข็งจากภายในประเทศ เติบโตไปด้วยกัน (Inclusive Growth) และพัฒนาต่อยอดธุรกิจสู่สากลในที่สุด
- การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทย เช่น การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business & Trade Facilitation) การปรับแก้กฎหมายการแข่งขัน (Competition Laws) เป็นต้น
"ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยุคใหม่จะต้องมียุทธศาสตร์และการทำงานเชิงรุก ให้เท่าทันบริบทของเศรษฐกิจโลก สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศ ให้สมกับคำว่า "ฉับไว โปร่งใส มองไกล ใกล้ชิดประชาชน" เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" รมว.พาณิชย์ กล่าว
สำหรับการส่งออกไทยปี 59 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 59 ที่เติบโตร้อยละ 5 ซึ่งดีกว่าการส่งออกโลก ที่คาดว่าจะเติบโต ร้อยละ 2.4 โดยมียุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย ได้แก่ การเร่งรัดทำตลาดเชิงกลยุทธ์ ได้แก่ การผลักดันสินค้าและบริการเป็น Cluster และการใช้ประโยชน์จาก AECขยายการค้าใน ASEAN, การปฏิรูปโครงสร้าง การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ได้แก่
- การพัฒนาธุรกิจบริการ (Service Economy) อาทิ Wellness & Medical Service, Hospitality, Trade Logistics, Creative Economy (IT, Digital Content, Entertainment)
- การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของไทย (Outward Investment / Internationalization) โดยปรับบทบาทกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ให้ส่งเสริมการค้าและการลงทุนควบคู่กันไป
- การสร้างสรรคุณค่า (Value Creation) อาทิ พัฒนาผู้ประกอบการ (นักรบเศรษฐกิจใหม่ สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน-Yen-D Program) พัฒนาการค้าในระบบดิจิตัล พัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยี และนวัตกรรมสู่การค้าเชิงพาณิชย์ (Commercialization) พัฒนาจากผู้รับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer: OEM) สู่ผู้ประกอบการที่มีการออกแบบ (Original Design Manufacturer: ODM) หรือผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตนเอง (Original Brand Manufacturer: OBM)
- การเปิดตลาดและปลดล็อคปัญหาการค้า ได้แก่ การเปิดตลาด โดยใช้ FTA ที่เจรจาไปแล้ว โดยเฉพาะ AEC เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน (ASEAN Hub) เร่งดำเนินการ FTA ที่อยู่ระหว่างเจรจา เช่น RCEP (อาเซียน 10 + 6 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ศึกษาวิเคราะห์ TPP รวมทั้ง เปิดประตูการค้า ผ่านความร่วมมือทางการค้า การเยือนระดับสูง เดินหน้าจัด Road Shows นำคณะผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก นักลงทุน ไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ ปี 2558 ได้นำคณะประกอบด้วย รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ อาทิ พาณิชย์ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ คมนาคม ไปญี่ปุ่น และในปี 59 มีแผนเดินทางไปรัสเซีย อิหร่าน โอมาน ศรีลังกา ในเดือนมกราคม นอกจากนั้น ได้เชิญผู้แทนระดับสูงมาเยือน และจัดให้มีนักธุรกิจเดินทางร่วมมาด้วย ได้แก่ จีน และกัมพูชา สำหรับการปลดล็อคปัญหาทางการค้า ได้เชิญแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร อัญมณี ธุรกิจบริการ มาหารือเพื่อแก้ปัญหาทางการค้าร่วมกัน รวมทั้ง ได้นำกลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เข้าพบนายกรัฐมนตรีด้วย (PM meets CEOs)
ส่วนคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในอนาคต คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 59 จะเริ่มฟื้นตัว โดย IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลก (GDP) ในปีหน้าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกาจะเติบโตร้อยละ 2.8 สหภาพยุโรปจะเติบโตร้อยละ 1.6 จีนจะเติบโตร้อยละ 6.3 ญี่ปุ่นจะเติบโตร้อยละ 1.0 อินเดียจะเติบโตร้อยละ 7.5 และอาเซียน 5 จะเติบโตร้อยละ 4.9 สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทย ในปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 คาดการณ์ส่งออกโลกปี 59 จะขยายตัว โดย IMF คาดการณ์การส่งออกโลก ในปีหน้า จะขยายตัวร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีนี้
ทั้งนี้ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงปี 58 ประเทศไทยได้เผชิญสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทายหลายประการ ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่มีความผันผวนและอยู่ในภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจการค้า ได้มุ่งมั่นดำเนินภารกิจเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ โดยมีผลการดำเนินการสำคัญ ได้แก่ การบริหารจัดการข้าวนั้น เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามารับหน้าที่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงาน ตรวจสอบจัดทำบัญชีข้าว เพื่อทราบปริมาณและคุณภาพข้าวที่มีอยู่จริงในขณะนั้น และใช้เป็นบัญชีตั้งต้นสำหรับระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลซึ่งมีอยู่ประมาณ 18 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้ระบายข้าวในสต็อกไปแล้ว 4.87 ล้านตัน มูลค่า 52,582.53 ล้านบาท
ส่วนแผนการระบายข้าวในช่วงต่อไป รัฐบาลจะเร่งระบายข้าวในสต๊อกที่เหลือประมาณ 13 ล้านตันโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม การระบายข้าว รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบต่อราคาตลาดข้าวในฤดูกาลใหม่ ดังนั้นในช่วงที่ข้าวออกมาก จะชะลอการระบายข้าวในสต็อก เพื่อไม่ให้เกิดส่วนเกินและกระทบต่อราคาในตลาด
ในด้านการช่วยเหลือชาวนา ที่ผ่านมาการจำนำข้าวทุกเมล็ดและกำหนดราคาจำนำสูงกว่าตลาด ทำให้เกิดการบิดเบือนตลาด เกิดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมหาศาล ที่สำคัญทำให้ชาวนาปลูกข้าวโดยไม่สนใจเรื่องคุณภาพ เพราะปลูกอย่างไรก็ได้เงินช่วยเหลือเท่ากัน รัฐบาลปัจจุบันมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ในทุกๆด้าน โดยหลีกเลี่ยงการบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้
ด้านการผลิต ลดต้นทุนการปลูก ลดราคาปุ๋ยร้อยละ 8 ยากำจัดศัตรูพืช ร้อยละ 5 – 10 รถเกี่ยวไร่ละ 50 บาท ลดค่าเช่านา ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนลงได้ประมาณไร่ละ 400 บาท ด้านการตลาด รักษาเสถียรภาพราคา โดยดูดซับปริมาณส่วนเกินในช่วงข้าวออกมาก ดังนี้
- ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่มีหนี้เงินกู้กับ ธ.ก.ส. ร้อยละ 3
- สนับสนุนสินเชื่อ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป วงเงิน 12,500 ล้านบาท
- ให้สินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยให้เก็บไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกร เป้าหมาย 2 ล้านตันโดยชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร ร้อยละ 3 เป็นเวลา 6 เดือน
- ให้สินเชื่อผู้ประกอบการค้าข้าว ซื้อข้าวเปลือกหรือข้าวสารจากเกษตรกรเก็บไว้ในสต็อก โดยจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ ร้อยละ 3 เก็บไว้ 2 – 6 เดือน เป้าหมาย 4.6 ล้านตัน
- จัดตลาดนัดข้าวเปลือก ในพื้นที่แหล่งเพาะปลูกข้าว 56 จังหวัด รวม 187 ครั้ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันและเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกร รวมทั้งเกิดความเป็นธรรมในการรับซื้อ เนื่องจากในบางพื้นที่ไม่มีหรือมีโรงสีน้อย ส่งผลให้เกษตรกรได้รับราคาสูงกว่าราคาตลาด 100 - 800 บาท
- การทำงานแบบประชารัฐ ระหว่าง รัฐบาล ผู้ส่งออก/โรงสี ชาวนา โดยผู้ส่งออกรับซื้อข้าวหอมมะลิปริมาณ 200,000 ตัน ในราคาตลาด
โดยมาตรการข้างต้นส่งผลให้ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตันละ 10,600 - 13,000 บาท, ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาตันละ 12,300 - 13,000 บาท, ราคาข้าวเปลือกเจ้า ราคาตันละ 7,500 - 8,000 บาท
ปัญหาอุปสรรคในข้าวฤดูใหม่พบว่า ข้าวเปลือกคุณภาพไม่ดีมีเมล็ดแดงปนมาก เนื่องจากโครงการรับจำนำที่ผ่านมาเกษตรกรไม่มีการพัฒนาคุณภาพ, ต้นฤดูมีฝนตกเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ให้เสียหาย ทำให้ข้าวเปลือกมีเมล็ดเขียวปะปน, รถเกี่ยวข้าวมีไม่เพียงพอ ต้องเก็บเปียก ความชื้นสูง ได้ราคาต่ำ
คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มอบหมาย 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสมาคมชาวนาและภาคเอกชน บูรณาการฟื้นฟูการผลิตข้าวฤดูกาลผลิตหน้า เริ่มตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ พื้นที่เพาะปลูก ปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ เครื่องจักรเครื่องมือในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว รวมทั้งมาตรการด้านตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา
ในอนาคตรัฐบาลจะสร้างความเข้มแข็งและบริหารจัดการข้าวอย่างยั่งยืน ได้แก่ ส่งเสริมให้ชาวนาเป็น "เกษตรกรก้าวหน้า (Smart Farmer)" พัฒนาเกษตรกรโดยสร้างการเรียนรู้การปลูกข้าวโดยลดต้นทุนการผลิต ใช้เมล็ดพันธุ์ดี ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเกินความจำเป็น, ส่งเสริมนโยบาย "ตลาดนำการผลิต เน้นการผลิตข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีมูลค่าเพิ่ม" และข้าวคุณลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวสินเหล็ก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสังข์หยด เป็นต้น, สนับสนุนการร่วมทุนกับเกษตรกร "พัฒนาแหล่งน้ำและอุปกรณ์พัฒนาคุณภาพผลผลิต", ส่งเสริมและขยาย "ตลาดค้าข้าวภายในประเทศและต่างประเทศ" โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อการทำตลาดเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ
การส่งออกข้าวปี 2558 และเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2559 ใน ปี 2558 ประเทศไทยได้ส่งออกข้าวตามเป้าหมาย 10 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 172,643 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการส่งออก G to G 3.35 ล้านตัน มูลค่า 49,733.69 ล้านบาท นับว่าเป็นการส่งออก G to G ที่สูงที่สุดในประวัติการณ์
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2559 ที่ปริมาณ 9 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 170,225 ล้านบาท และจากผลตอบรับที่ดีในการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยเชิงรุกในต่างประเทศจนทำให้สามารถดึงตลาดเก่าที่เคยสูญเสียไปกลับมาได้ เช่น ตลาดฮ่องกง อินโดนีเซีย เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2559 กระทรวงพาณิชย์มีแผนการตลาดส่งออกข้าวคุณภาพดี 5 ล้านตัน (55 %) และตลาดข้าวคุณภาพ ปานกลางลงมา 4 ล้านตัน (45 %) แบ่งเป็น 1.ขายภายใต้สัญญาแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจะนำคณะข้าราชการ/นักธุรกิจ เดินทางไปเยือนอิหร่าน โอมาน รัสเซีย และฟิลิปปินส์ ในต้นเดือนหน้า 2.ส่งเสริมการขายร่วมกับภาคเอกชน (G + P) โดยเน้นตลาดภูมิภาคเอเชีย (ฮ่องกง มาเลเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์) ยุโรป ตะวันออกกลาง (อาหรับเอมิเรต) และอเมริกา (สหรัฐ เปรู เม็กซิโก)
เรื่องที่สอง การดูแลปากท้องประชาชน โดยรัฐบาลดูแลปากท้องและความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จากสถานการณ์โลกที่ราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจากเมื่อต้นปีก่อนหน้า (2557) ถึงประมาณร้อยละ 50-60 รวมทั้ง ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกก็ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยลดลงจากเมื่อต้นปีก่อนหน้า ถึงประมาณร้อยละ 25 ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ ที่เป็นสินค้าทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิตน้ำมัน อาทิ ยางพารา อ้อย ปาล์ม เป็นต้น
ผลที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยจากสถานการณ์โลกข้างต้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและดัชนีรายได้เกษตรกรของไทยมีค่าเฉลี่ยลดต่ำลง ตามราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรในตลาดโลก ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรเริ่มปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ เป็นผลจากการดำเนินการของรัฐบาล
โดยกระทรวงพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ในการดูแลปากท้องประชาชน ได้แก่ 1) มีสินค้าพอเพียงและทั่วถึง 2) ราคาเป็นธรรม 3) การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม โดยมีการสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น (Local Economy) และมาตรการในการดูแลปากท้องประชาชน ดังนี้ การสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่น (Local Economy) อาทิ การพัฒนาตลาดชุมชน และ Farm Outlet เพื่อให้ “วิสาหกิจชุมชนมีรายได้ มีสินค้าราคาเป็นธรรมและกระจายไปถึงผู้บริโภค" สร้างร้านค้าให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์พบผู้บริโภคโดยตรง การจัดตลาดชุมชน 13 แห่ง 13 จังหวัด ในเดือน ธ.ค. 58 (ทั่วประเทศ ปี 59) การจัด Farm Outlet 25 แห่ง 19 จังหวัด (ปี 59 จะเพิ่มเป็น 30 แห่ง 24 จังหวัด) และการพัฒนาต่อไปให้เป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์เป็นแหล่งท่องเที่ยว
การพัฒนาและเชื่อมโยงผู้ประกอบการ การพัฒนาร้านค้าปลีก-ค้าส่ง ระดับภูมิภาค สร้างเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกชุมชน โดยการพัฒนาผู้ประกอบการด้านการบริหารจัดการร้านค้า การบริหาร Stock การจัดระบบบัญชี การจัด Display ในร้านให้ทันสมัย โดยพัฒนาร้านค้าต้นแบบ 88 ราย ปัจจุบันมีร้านค้าปลีก-ค้าส่งในการพัฒนาของกระทรวงพาณิชย์ 10,200 ราย ใน 55 จังหวัด และจะขยายให้ครอบคลุม 76 จังหวัดในระยะต่อไป เน้นให้ร้านค้าเหล่านี้ประหยัดต้นทุนการบริหารจัดการ ตั้งเป็นเครือข่ายร้าน "ฉลาดซื้อประหยัดใช้" ราคาต่ำกว่า Modern Trade ประมาณร้อยละ 10-20% รวมทั้งจัดตั้ง Biz Club สร้างเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจ SMEs เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจภูมิภาค เชื่อมโยงผู้ประกอบการ โดยปัจจุบันมี 38 Biz Club สมาชิก 8,000 ราย
มาตรการในการดูแลปากท้องประชาชน โดยได้ส่งเสริมและรณรงค์ให้ผู้บริโภค “ฉลาดซื้อประหยัดใช้" และมาตรการต่างๆ อาทิ การตรึงราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายเวลาตรึงราคา/ชะลอการปรับราคาจำหน่ายจนถึง พ.ย.58 การจัดงานธงฟ้าทั่วประเทศ 1,900 ครั้ง มูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท ลดภาระค่าครองชีพกว่า 760 ล้านบาท การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัด ร่วมกับ ธกส. และผู้ผลิตรายใหญ่ ลดราคา 10 - 50% จำนวน 23 สินค้า 108 รายการ โครงการหนูณิชย์...พาชิม ลดภาระประชาชนวันละ 2.7 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท โดยจำหน่ายอาหารจานละ 30 – 40 บาท การจำหน่ายข้าวบรรจุถุงตามโครงการเพื่อชุมชม ข้าว 20,000 ตัน จำนวน 500,000 ถุง และมหกรรมลดราคาสินค้า "เทใจ คืนสุข สู่ประชาชน" ลดราคาสินค้า 20 -70% กว่า 12,800 สาขา มูลค่าจำหน่ายรวมกว่า 50,000 ล้านบาท
เรื่องที่สาม การเปิดตลาดและปลดล็อคปัญหาการค้า ในสถานการณ์การค้าโลกที่เลวร้าย แต่ไทยยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้ จากสถานการณ์การค้าโลกที่ผ่านมา ทุกประเทศที่เป็นผู้ส่งออกหลักของโลก (Top Exporter) มีการส่งออกที่หดตัวทั้งสิ้น โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. - ต.ค. 58) ไทยในฐานะผู้ส่งออกอันดับที่ 23 ของโลก แม้จะมีการส่งออกหดตัว แต่ก็หดตัวเพียงร้อยละ 6 ซึ่งถือว่าหดตัวน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ ที่เฉลี่ยหดตัวมากกว่าร้อยละ 10 จึงกล่าวได้ว่า ภายใต้สถานการณ์การค้าโลกที่ย่ำแย่ ไทยทำได้เช่นนี้ก็ดีมากแล้ว
การส่งออกของไทยในปี 58 จะหดตัวน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยไทยตั้งเป้าหมายการส่งออก ปี 58 หดตัวร้อยละ 3 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (IMF คาดการณ์ว่าการส่งออกโลก ปี 58 จะหดตัวถึงร้อยละ 11.2) อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกจริงทั้งปี อาจต่ำกว่าเป้าหมายอยู่บ้าง