แผนงานที่ 1 การพัฒนาเครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชน ได้แก่ โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน เป็นการปรับรูปแบบศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน โดยนำร่องดำเนินการจำนวน 600 แห่ง จาก 2,280 แห่งทั่วประเทศ และร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โดยใช้ศูนย์ กศน. จำนวน 1,631 แห่ง เป็นศูนย์ให้บริการด้านดิจิทัลและข้อมูลข่าวสารเชิงเศรษฐกิจและสังคมแก่ชุมชน รวมทั้งสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างชุมชนและใช้ในการบริหารประเทศ
แผนงานที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์และโครงข่าย ได้แก่ โครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน โดยร่วมกับ กศน. และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) นำอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน จำนวน 10,000 แห่งทั่วประเทศ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Free Wi-Fi) เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้ โดยลงทะเบียนครั้งเดียวสามารถใช้บริการ Free Wi-Fi ได้กับทุกผู้ให้บริการ และโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ (Smart City จังหวัดภูเก็ต)
แผนงานที่ 3 การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด (Thai-MOOC) โครงการพัฒนาคลังสื่อและสื่อดิจิทัลด้านอาชีพและวิชาชีพเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพสู่สากลและการเรียนรู้ตลอดชีวิตรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลและประชาคมอาเซียน โครงการคลังความรู้ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ และโครงการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคม
แผนงานที่ 4 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจ SMEs เช่น โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในภาคอุตสาหกรรมให้เรียนรู้และสามารถทำธุรกรรม B2B สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการทำตลาดผ่านช่องทาง e-Business รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัลเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และแนะแนวทางสำหรับผู้ประกอบการ โครงการศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าและกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า โครงการ SMEs GO Online ซื้อขายมั่นใจ มีปัญหาเมื่อไรเราดูแล โครงการพัฒนาฐานข้อมูลและข้อมูลเพื่อทำมาตรฐานสินค้าด้วยมาตรฐานสากลเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจของตนเองได้ต่อไป โครงการส่งเสริมสิทธิในการใช้สื่อดิจิทัลโดยการมีส่วนร่วมของภาคสังคมและการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม โครงการจัดทำฐานข้อมูลสถานประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจการค้า และ การบริการในเขตซูเปอร์คลัสเตอร์ และโครงการขับเคลื่อน Smart Thailand ผ่านการร่วมมือกับผู้นำอุตสาหกรรมระดับโลก
แผนงานที่ 5 การพัฒนาบริการดิจิทัลในภาครัฐ ได้แก่ โครงการยกระดับคุณภาพงานบริการภาครัฐเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 มิติ คือ การปรับกระบวนการดำเนินการภาครัฐ และการอำนวย ความสะดวกแก่ประชาชนในการใช้บริการภาครัฐ
แผนงานที่ 6 การพัฒนาทุนมนุษย์สำหรับโลกยุคดิจิทัล ได้แก่ โครงการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสร้างธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล (Tech Startup) โครงการประเมินความพร้อมของหน่วยงานและพัฒนาบุคลากร
แผนงานที่ 7 การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ได้แก่ โครงการพัฒนา Smart City จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นการนำร่องเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการในจังหวัดอื่นต่อไป โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการออกแบบร่วมกับคนในท้องถิ่น สามารถอยู่ได้ด้วยงบประมาณของจังหวัดเองด้วย Business Model ที่ดี โครงการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อการเติบโตแบบยั่งยืน (Smart Growth) ต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของภูเก็ต การสร้างอุตสาหกรรมที่ 2 เพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เน้นให้เกิดการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สุดท้ายคือ แผนงานที่ 8 การสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เช่น การเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนตามนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เป็นต้น
ขณะที่การดำเนินงานที่ผ่านมาในปี 2558 ในส่วนของงานภาครัฐ กระทรวงไอซีทีได้ปรับเปลี่ยนการทำงานและบริการภาครัฐ สู่ดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ภาครัฐเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อน ประหยัดงบประมาณ โดยเฉพาะการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐเพื่อประชาชนผ่าน GovChannel 3 ช่องทาง คือ 1) ผ่านเว็บไซต์ egov.go.th ให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, data.go.th เผยแพร่ข้อมูลเปิดภาครัฐ และ info.go.th บริการคู่มือประชาชน 2) ผ่านอุปกรณ์สื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชัน GAC และ 3) ผ่านอุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ Government Kiosk ให้บริการแบบ Self-Service นำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถี ศูนย์ G-Point ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์และเซ็นทรัลศาลายา รวมถึง Government Smart Box ช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่น นำร่องที่ กศน.ตำบล จังหวัดเชียงรายและพะเยา
ด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงไอซีที 3 หน่วยงาน ได้แก่ บมจ.ทีโอที (TOT) บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) และ บจ.ไปรษณีย์ไทย ได้ดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยทำความเข้าใจกับ TOT และ CAT ด้านบริหารจัดการคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและได้คืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ CAT และย่าน 900 MHz ของ TOT ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำไปประมูล ซึ่งการประมูลคลื่น 4G จะทำให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการนำรายได้เข้ารัฐ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งเร่งรัดให้จัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นองค์กรและปรับโครงสร้างองค์กร TOT และ CAT เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่วน บจ.ไปรษณีย์ไทย ได้มีการพัฒนาองค์กรจนสามารถจัดตั้งบริษัทลูกและขยายธุรกิจด้านโลจิสติกส์
นอกจากนี้ ในปี 2558 กระทรวงไอซีทีได้ยกร่างกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มกฎหมายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล กลุ่มกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และกลุ่มกฎหมายด้านความมั่นคง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้มีการดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อรองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าส่วนหนึ่งจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2559