(เพิ่มเติม) รมว.คลัง ประกาศมาตรการภาษีกระตุ้นใช้จ่ายปลายปี ดัน GDP โตอีก 0.1-0.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2015 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังประกาศมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 58 เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้กระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 0.1-0.2% โดยมาตรการภาษีดังกล่าวไม่รวมสินค้าและบริการเป็นอบายมุขทุกชนิด รวมถึงสินค้าสุรา, เบียร์, ไวน์, ยาสูบ, น้ำมัน-ก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ, รถยนต์, รถจักรยานยนต์ และเรือ

ทั้งนี้ ในมาตรการดังกล่าวกำหนดรายได้ที่นำมาจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในระหว่างวันที่ 25 ธ.ค.58 - 31 ธ.ค.58 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

"มาตรการนี้ทำให้ได้ผลหลายอย่าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม คนที่ได้ทางตรงก็ได้ประโยชน์จากการหักภาษี ส่วนคนที่ได้ทางอ้อมก็จะเป็นพวกร้านค้า ที่จะเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น ซึ่งทุกอย่างนี้เองจะทำให้เศรษฐกิจเริ่มหมุนไปได้ นั่นหมายถึงทุกคนจะได้ประโยชน์" รมว.คลัง กล่าว

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการนี้จะทำให้ผู้มีรายได้ระดับกลางและน้อยตัดสินใจซื้อสินค้า และไม่อยากให้ผู้เสียภาษีเข้าใจผิดว่าหักภาษีได้ทั้งจำนวน 1.5 หมื่นบาท แต่การหักภาษีได้ตามอัตราที่เสียภาษีอยู่ เช่น เสียภาษี 5% ก็จะหักภาษีได้ 750 บาท หรือเสียภาษีสูงสุด 35% จะหักภาษีได้ 5,250 บาท

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐมีการสูญเสียรายได้ประมาณ 4-5 พันล้านบาท แต่ในทางกลับกันจะมีรายได้ทางอ้อมจากภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) กลับเข้ามา รวมทั้งมาตรการนี้ยังเป็นมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนมีความสุขในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงถือว่าสิ่งที่ได้กลับคืนมาคุ้มค่ามากกว่าสิ่งที่เสียไป

อย่างไรก็ดี บุคคลที่จะได้สิทธิตามมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลนี้ ได้แก่ บุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ และคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในช่วง 7 วันนี้(25 ธ.ค.-31 ธ.ค.58) ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยผู้ที่ได้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้เป็นบุคคลธรรมดาไม่รวมคณะบุคคลและต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียนเสียภาษีถูกต้อง และต้องขอใบกำกับภาษีอย่างเต็มจากร้านค้าเป็นหลักฐานในการขอลดหย่อนภาษี

สำหรับสินค้าและบริการที่นำมาหักลดหย่อยภาษีได้ทุกประเภทที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ยกเว้น สุรา เบียร์ ไวน์ บุหรี่ยาสูบ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เรือ น้ำมัน และก๊าซที่เป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ก็ไม่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายลดหย่อนภาษีได้ เพราะถือเป็นสินค้าและบริการที่ใช้ไปก่อนหน้าแล้ว มาตรการนี้ต้องการให้เป็นการซื้อสินค้าและบริการในช่วง 7 วัน ก่อนสิ้นปีนี้จริงๆ

ขณะเดียวกันบัตรของขวัญ หรือบัตรแทนเงินสด รวมถึงการซื้อแพ็คเกจใช้บริการล่วงหน้า เช่น ซื้อนวดสปาล่วงหน้า ไม่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนได้เช่นกัน รวมถึงการทำประกันอุบัติเหตุไม่สามารถนำมาหักลดหย่อน เพราะไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่การซ่อมรถยนต์สามารถนำมาหักลดหย่อยได้

สำหรับการทำศัลยกรรม หน้าอก หน้า จมูก คิ้ว ตา เป็นต้น สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องทำกับสถานพยาบาลที่จดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น เพราะปกติโรงพยาบาลได้รับการยกเว้นไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการใช้บริการอาบ-อบ-นวด หากผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก็สามารถเข้าร่วมรายการได้ด้วยเช่นกัน

"ในส่วนของทองคำเป็นสินค้านอกระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่สามารถนำมาร่วมรายการได้ แต่สามารถนำค่ากำเหน็จมาหักลดหย่อนภาษีได้เท่านั้น และการท่องเที่ยวหักลดหย่อนได้เฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศ การเที่ยวต่างประเทศหักลดหย่อนไม่ได้ โดยก่อนหน้านี้มีมาตรการหักลดหย่อยภาษีจากการท่องเที่ยว 15,000 บาท สามารถนำส่วนนี้มาหักเพิ่มได้เป็น 3 หมื่นบาท เพราะถือว่าการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าและบริการ ขณะที่การซื้อสินค้าในร้านค้าปลอดภาษี(Duty Free) นำมาลดหย่อนไม่ได้ แต่การซื้อสินค้าปลอดภาษีที่ติดป้ายสีฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ สามารถนำมาลดหย่อนได้

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า สาเหตุที่กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรเพิ่งมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันนี้ แม้ว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะมีมติอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ต้องการให้ข่าวออกไปก่อน เพราะจะส่งผลทำให้ประชาชนชะลอการซื้อสินค้าในช่วงก่อนที่จะถึงวันที่ 25 ธ.ค. ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ