รมว.อุตฯ เดินหน้าขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ยกระดับด้านเทคโนโลยี-นวัตกรรม-แรงงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2015 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 59 กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งปรับปรุงงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และจะผลักดันการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ การขับเคลื่อนแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยในเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม ประสิทธิภาพแรงงาน และพัฒนาปัจจัยแวดล้อมสนับสนุน เพื่อเร่งสร้างความสามารถทางการแข่งขันและหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางต่อไป

สำหรับภาวะอุตสาหกรรมปี 58 และ แนวโน้มปี 59 นั้น สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่า GDP อุตสาหกรรมในปี 2558 จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 0.5 และ GDP อุตสาหกรรมทั้งปี 2559 เติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นกว่าในปี 2558 โดยมีช่วงการคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.5 ถึง 2.5

สำหรับอุตสาหกรรมดาวเด่นที่คาดว่าปรับตัวดีขึ้น ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่คาดว่าจะมี การผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,250,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2559 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น IC ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป

อุตสาหกรรมอาหาร ในปี 2559 คาดว่าการผลิตในภาพรวมขยายตัว เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น กองทุนหมู่บ้าน รวมถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพ ซึ่งจะช่วยยกระดับการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรมอาหารเติบโตขึ้น

อุตสาหกรรมเซรามิก ในปี 2559 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใกล้เคียงเติบโตตามไปด้วย" นางอรรชกา กล่าว

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างการสร้างเม็ดเศรษฐกิจในต่างจังหวัด คืออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะเป็นผลจากการปรับโครงสร้างและยุทธศาสตร์ โดยภายใน 5 ปีข้างหน้า พื้นที่ปลูกอ้อยจะเพิ่มขึ้นจาก 10.53 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ จะเพิ่มผลผลิตอ้อย จาก 105.96 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตัน น้ำตาลทราย จาก 11.34 ล้านตัน เป็น 20.36 ล้านตัน เอทานอล จาก 2.5 ล้านลิตร/วัน เป็น 5.38 ล้านตัน/วัน สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จาก 1,542 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์ สร้างรายได้เพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจจาก 200,000 ล้านบาท เป็น 450,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รวมทั้งจะเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องใหม่ๆ เช่น พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี ซึ่งจะมีการดำเนินการ 5 ด้าน ได้แก่ (1)ปรับปรุงกฎหมาย (2)พัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพอ้อยและน้ำตาลทราย (3) การกำหนดต้นทุนมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย (4) การรักษาเสถียรภาพกองทุน และ (5) การวิจัยและพัฒนา

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังจะเปิดตัวเว็บไซต์เกี่ยวกับข้อมูลรถยนต์ www.car.go.th ซึ่งผู้ซื้อรถยนต์และผู้สนใจ สามารถเข้าไปศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆของรถยนต์แต่ละรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทยก่อนตัดสินใจซื้อซึ่งจะสามารถลดปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานรถยนต์ รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงอย่างเป็นทางการต่อไป และจะปรับปรุงเว็บไซต์แลเปิดแอปพลิเคชั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

สำหรับผลงานรอบ 1 ปี กระทรวงฯ ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลใน 4 ด้านด้วยกัน คือ 1.พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 2.การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 3.การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ และ 4.การบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงแรก ได้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาตต่างๆ ให้มีความรวดเร็วขึ้นโดยเฉพาะการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) และให้หน่วยงานในสังกัดติดตามอำนวยความสะดวกเพื่อเร่งรัดให้แจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงาน ตลอดจนมีแผนการตรวจกำกับโรงงานต่างๆ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน การนำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบ และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม (พ.ศ.2558 -2562) การแก้ปัญหาผังเมืองที่กระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การปรับมาตรฐานอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับอาเซียนรองรับการเปิด เออีซี และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลัก ในการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร) ซึ่งเชื่อว่าจะมีการลงทุนใหม่ในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกับมีการจัดระบบการทำงานรูปแบบใหม่ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ให้กระชับมากขึ้น

ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ก็ยังเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนา SMEs ตามช่วงการพัฒนาของธุรกิจ ตั้งแต่การสร้างผู้ประกอบการใหม่ การพัฒนาผู้ประกอบการเดิม และการฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ