ทั้งนี้ ได้กำหนดขั้นตอนการขนย้ายข้าวที่ต้องมีการตรวจสอบเข้มงวด เช่น ให้ขนย้ายเวลากลางวัน มีกำหนดจุดตรวจเพื่อตรวจสอบพร้อมบันทึกภาพถ่ายรถบรรทุกและส่งผ่านระบบไลน์จากต้นทางจนถึงปลายทางก่อนส่งต่อไปยังวอร์รูม เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวโดยรวม
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ วันที่ 29 ธ.ค.58 อคส.พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 2 ราย เพื่อดูความพร้อมการรับสินค้าและการส่งข้าวเสื่อมที่ประมูลได้เข้าสู่กระบวนการผลิตปุ๋ยและชีวมวล รวมทั้งกำหนดจุดที่จะติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจสอบติดตามกระบวนการผลิตของทั้ง 2 โรงงาน ซึ่งทั้ง 2 ราย ยินดีให้ความร่วมมือติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดต่างๆ ได้ ยกเว้นเพียงจุดที่เป็นความลับทางการค้า จึงขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการการทำงานที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใส
"หากการลงพื้นที่พบว่าไม่มีความพร้อม อคส.อาจไม่ทำสัญญาซื้อขายข้าวก็ได้ แต่หากพร้อม ก็สามารถทำสัญญาได้ก่อนวันที่ 8 ม.ค.59 และเริ่มขนย้ายวันถัดไปได้ทันที โดยหากบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือเงื่อนไขสัญญาจะต้องเสียค่าปรับที่ 0.2% ของมูลค่าสินค้าที่ประมูลได้ ส่วนกรณีนำข้าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จะถูกปรับอีก 25% ของมูลค่าสินค้า พร้อมถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา เพื่อป้องกันการแปรรูปข้าวไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นหรือนำข้าวเสียกลับสู่ตลาดเพื่อการบริโภค" พล.ต.ต.ไกรบุญกล่าว
แหล่งข่าวจาก บริษัท ว.ธนทรัพย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 รายที่ประมูลข้าวได้ ระบุว่า จะนำข้าวที่ประมูลได้ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์หรือสารปรับปรุงดิน เพราะได้มีการทำวิจัยมาก่อนหน้านี้ และเชื่อว่าสามารถทำราคาได้ เนื่องจากราคาประมูลที่ได้ต่ำกว่าราคาที่บริษัทตั้งไว้
ขณะที่บริษัท สินไชยศรี ระบุว่า แม้ว่าราคาที่ประมูลได้ค่อนข้างสูงกว่าราคาวัตถุดิบที่เคยใช้ เช่น แกลบ ที่มีราคาอยู่ที่กก.ละ 2-3 บาท ขณะที่ข้าวเสียอยู่ที่ กก.ละ 5.60บาท แต่ก็ต้องทดลองใช้ผลิต เพื่อดูความคุ้มค่า
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) เห็นชอบผลการประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ครั้งที่ 1/58 ซึ่งเป็นข้าวผิดไปจากมาตรฐานให้แก่ผู้เสนอราคาซื้อสูงสุดจำนวน 2 ราย โดยเป็นผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อการจำหน่าย และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี และผลิตสารปรับปรุงดิน ในราคาตันละ 5,020-5,420 บาท ใน 10 คลัง 7 จังหวัด ปริมาณรวม 37,412 ตัน มูลค่า 198 ล้านบาท