เงินบาทตลอดทั้งวันนี้แกว่งอยู่ในกรอบแคบมาก เพราะไม่มีปัจจัยสำคัญ อีกทั้งตลาดต่างประเทศปิดทำการเนื่องในวันคริสต์มาส ประกอบกับเป็นช่วงใกล้สิ้นปี การทำธุรกรรมต่างๆ จึงเบาบาง
นักบริหารเงิน คาดว่า สัปดาห์หน้าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 36.00-36.15 บาท/ดอลลาร์
- ปัจจัยสำคัญ
- ช่วงเย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.31/35 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 120.16/21 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโรช่วงเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.0949/0953 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0953 ดอลลาร์/ยูโร
- ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,282.93 ลดลง 1.22 จุด (-0.10%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 16,655 ล้านบาท
- สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 320.36 ลบ.(SET+MAI)
- นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังประกาศมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 58 เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้กระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปีนี้เพิ่มขึ้นอีก 0.1-0.2% โดยมาตรการภาษีดังกล่าวไม่รวมสินค้าและบริการเป็นอบายมุขทุกชนิด รวมถึงสินค้าสุรา, เบียร์, ไวน์, ยาสูบ, น้ำมัน-ก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ, รถยนต์, รถจักรยานยนต์ และเรือ
ทั้งนี้ ในมาตรการดังกล่าวกำหนดให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในระหว่างวันที่ 25 ธ.ค.58 - 31 ธ.ค.58 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
พร้อมยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 4-5 พันล้านบาท แต่ในทางกลับกันจะมีรายได้ทางอ้อมจากภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) กลับเข้ามา อย่างไรก็ดี บุคคลที่จะได้สิทธิตามมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลนี้ ได้แก่ บุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงคณะบุคคล
- ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 ขยายตัว 2.8% สูงกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อยที่ 2.7% เนื่องจากการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะในไตรมาส 3/58 และคาดว่าจะต่อเนื่องถึงไตรมาส 4/58 ของปีนี้
สำหรับในปี 59 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ 3.5% ต่ำกว่าประมาณเดิมเล็กน้อยที่ 3.7% ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลงโดยเฉพาะจีนและเอเชีย แม้ว่าจะถูกชดเชยด้วยแรงส่งที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาด แต่อาจไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด
ด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยเสี่ยงด้านบวกสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงกว่าประมาณการ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำตามแรงกดดันด้านต้นทุนที่ลดลง แต่ความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดยังจำกัด พร้อมกันนี้ มองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนอย่างต่อเนื่อง มีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
- กระทรวงการคลังของจีน เปิดเผยว่า จีนได้รับเงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (EIB) เพิ่มขึ้นในปี 2558 เมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากระยะเวลาในการอนุมัติเงินกู้นั้นมีความรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้จีนได้นำเงินกู้ประมาณ 401 ล้านยูโร (439 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่ได้จาก EIB ไปลงทุนใน 10 โครงการปีนี้ ซึ่งมุ่งเน้นที่การพัฒนาป่าไม้ การอนุรักษ์พลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
- รัฐสภายูเครนผ่านร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขระบบการจัดเก็บภาษีของประเทศให้มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อรับการจัดสรรเงินช่วยเหลือให้กับยูเครนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ จะมีการปรับขึ้นภาษีบางรายการ ในขณะที่บางรายการภาษีจะลดลงหรือใช้ภาษีอื่นแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลยูเครนจะปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล บุหรี่ และน้ำมันเชื้อเพลิง และปรับขึ้นภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มงบประมาณรายได้
- กระทรวงสื่อสารและกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% จากปีก่อนหน้า ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และสะท้อนถึงราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ขณะที่ราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น