(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย พ.ย.58 ส่งออก -7.42% นำเข้า -9.53% เกินดุล 299 ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2015 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน พ.ย.58 การส่งออกมีมูลค่า 17,167 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 7.42% ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 16,868 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 9.53% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน พ.ย.เกินดุล 299 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.58) การส่งออกลดลง 5.51% มีมูลค่า 197,275 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนนำเข้าลดลง 11.16% มีมูลค่า 187,041 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ดุลการค้าเกินดุล 10,233 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนทั้งปี 58 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกจะติดลบใกล้เคียง 5.5% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบราว 3%

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน พ.ย.58 ยังคงลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่สถานการณ์ดีกว่าประเทศอื่นๆ มากในภาวะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าและปัจจัยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหดตัวสูง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกของโลกทั้งปี 58 จะหดตัวถึง -11.17% ดังนั้น การส่งออกของไทยยังหดตัวน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

นอกจากนี้ข้อมูลการนำเข้าของตลาดโลกล่าสุดแสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด(Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าส่งออก อีกทั้งรายได้จากการส่งออกของไทยในรูปเงินบาทยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยยังคงได้ดุลการค้าอยู่ในระดับสูง

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือน พ.ย.58 ลดลง -7.0% (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยางพาราที่หดตัวถึง -12.7% เช่นเดียวกับ ข้าว อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และน้ำตาล ที่หดตัวสูงถึง -7.9% -14.9% และ -32.5% (YoY) ตามลำดับ ถึงแม้ปริมาณส่งออกสินค้าเหล่านี้ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลงมาก ขณะที่ผลไม้สด แช่แข็ง และแห้ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ไก่แปรรูป และเครื่องดื่ม ยังคงขยายตัวสูงขึ้น 74.2% 29.2% 9.4% และ 8.4% (YoY) ตามลำดับ

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลงเช่นกัน โดยภาพรวมเดือน พ.ย.58 ลดลง -6.8% (YoY) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยคือรถยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ 13.7% (YoY) จากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์นั่ง ขยายตัวสูงถึง 95.5% (YoY) ส่วนรถกระบะยังคงหดตัว -23.7% (YoY) ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมยังคงหดตัว เนื่องจากมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้ามากตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีแนวโน้มลดต่ำลงจนถึงสิ้นปี ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอย่างทองคำ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 33.4 (YoY) เนื่องจากราคาทองคำยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีการส่งออกเพื่อทำกำไร

ตลาดส่งออก กลุ่ม CLMV ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(15) และอาเซียน(9) ยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก การส่งออกไปยังตลาด CLMV ยังคงมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง 15.4%(YoY) โดยกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ขยายตัวสูงจากการค้าชายแดนเป็นสำคัญ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องดื่ม และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา หดตัว -6.3%(YoY) จากการหดตัวของเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เป็นต้น เช่นเดียวกับตลาดหลักอย่าง จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) และอาเซียน (9) ที่ลดลง -6.1% -4.7% -6.7% และ -9.8% (YoY) ตามลำดับ

ปัจจัยที่มีผลกระทบให้การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง เป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ดังนี้

1) ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การนำเข้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถิติการนำเข้าล่าสุดถึงเดือน ต.ค.58 ของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น (-20.8%) จีน (-19.2%) ฝรั่งเศส (-16.8%) เกาหลีใต้ (-16.6%) สหราชอาณาจักร (-9.6%) สหรัฐฯ (-4.3%)

2) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว โดยในเดือน พ.ย.58 ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงถึง -44.9% (YoY) ขณะที่ระยะ 11 เดือนแรกของปีนี้ลดลง -47.2%(YoY) ส่งผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก

3) ราคาสินค้าเกษตรโลกปรับตัวลดลงมาก โดยเฉพาะในระยะ 11 เดือนแรกของปีนี้ ราคาข้าวลดลง -10.6% (YoY) ยางพาราลดลง -20.2%(YoY) และน้ำตาลลดลง -7.5%(YoY) ส่งผลให้แม้ว่าไทยจะส่งออกในปริมาณไม่ต่ำกว่าเดิม แต่มูลค่าส่งออกลดลงมาก

4) การใช้มาตรการลดค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการส่งออก โดยข้อมูลล่าสุดของค่าเงินสกุลต่างๆ ณ เดือน ธค.58 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง 10.4% เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ ค่าเงินออสเตรเลียดอลลาร์ของออสเตรเลียลดลง 12.3% ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียลดลง 22.9% ขณะที่ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลง 9.5% ซึ่งอ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าสกุลเงินอื่น ทำให้สินค้าไทยแข่งขันยาก มีราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าของคู่ค้าและคู่แข่ง ความต้องการซื้อสินค้าไทยลดลง ซึ่งแม้ว่าค่าเงินบาทไทยจะเริ่มอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 36.1 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (ณ 24 ธ.ค. 58) แต่ก็ยังหนุนมูลค่าการส่งออกได้ไม่มากนัก อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ย.58 พบว่าส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ที่เป็นปัจจัยการผลิตรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 23.5%(YoY) ในขณะที่สินค้านำเข้ากลุ่มเชื้อเพลิง และสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป หดตัวสูงถึง -38.3% และ -10.2%(YoY) ตามลำดับ จึงส่งผลให้ภาพรวมการนำเข้าเดือน พ.ย.58 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง -9.5%(YoY) ซึ่งการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าที่สูงนี้เป็นผลมาจากการปริมาณนำเข้าที่ลดลงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

อัตราหดตัวของมูลค่าส่งออกของไทยยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยสถิติส่งออกล่าสุดถึงเดือน ต.ค.58 ในฐานะผู้ส่งออกอันดับที่ 23 ของโลก แม้จะมีการส่งออกหดตัว แต่ก็หดตัวเพียง -5.9% ซึ่งถือว่าหดตัวน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ ที่เฉลี่ยหดตัวมากกว่า -10% จึงกล่าวได้ว่า ภายใต้สถานการณ์การค้าโลกที่ย่ำแย่ ไทยทำได้เช่นนี้ก็ดีมากแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ