น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. ยังคงเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ไว้ที่ 2.8% แต่ยอมรับว่ายังมีปัจจัยเสริมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาก่อนหน้านี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย 1.5 หมื่นบาท สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรม ที่จะช่วยทำให้การขยายตัวของ GDP เติบโตได้ใกล้ 3%
ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของตัวเลขส่งออกไทยในปีนี้ชะลอตัวลงจากปัจจุบันคาดว่าจะติดลบ 5.4% โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2558 ที่ผ่านมา ภาคการส่งออกของไทย ติดลบไปแล้ว 5.5%
"สศค.ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วง 7 วันสุดท้ายของปี 2558 (25-31 ธ.ค.) จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1% โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2.25 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้มีสิทธิขอลดหย่อนภาษีทั้งสิ้น 3 ล้านคน โดยในจำนวนนี้คาดว่า 50% จะมียอดใช้จ่ายและขอใช้สิทธิเพิ่มขึ้น รวมทั้งมองว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 0.4%" นางสาวกุลยา กล่าว
สำหรับในปี 59 สศค.ยังคงคาดว่า GDP จะเติบโตได้ 3.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีนี้, การเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่, มอเตอร์เวย์, โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ, โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวก็จะเข้ามาเป็นปัจจัยหนุนสำคัญด้วย โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังขยายตัวได้ดีในเลข 2 หลัก และการค้าชายแดนจะเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังพม่า ลาว กัมพูชา เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศดังกล่าวยังขยายตัวได้ดีที่ระดับ 7-8%
น.ส.กุลยา กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในปีหน้า ได้แก่ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ไปจนถึงญี่ปุ่นที่เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ตัวเลขการส่งออกในปี 59 ปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 2.5% แต่ยังเชื่อมั่นว่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้แน่นอน
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความผันผวนในตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายในทิศทางต่างๆ ของประเทศมหาอำนาจที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดผลกระทบด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนมากขึ้น ไปจนถึงความผันผวนในราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันที่ยังอยู่ในช่วงขาลง