คลังเผยเศรษฐกิจ พ.ย.58 ใช้จ่ายเอกชน-ภาครัฐช่วยหนุน แม้ส่งออกยังหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2015 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน พ.ย.58 ว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจบ่งชี้สัญญาณการใช้จ่ายภายในประเทศของภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้มีการปรับตัวดีขึ้นในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การใช้จ่ายของรัฐบาลยังถือเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัวจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ยังอ่อนแอ

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล พบว่าขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อเดือน จากการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปีเป็นสำคัญ สำหรับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -12.0 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อเดือน สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อเดือน จากการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตภูมิภาค และในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันอยู่ที่ระดับ 63.4 โดยมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นสำคัญ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า มาตรการภาษีล่าสุดที่ออกมาในช่วงปลายปี 2558 โดยการให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 58 ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท จะสามารถช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค.58 ต่อไป

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 20.3 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวร้อยละ 17.6 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.58 ที่ผ่านมา

ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อเดือน สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์พบว่า ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวร้อยละ 16.2 ต่อเดือน

สถานการณ์ด้านการคลังในเดือน พ.ย.58 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง และดุลงบประมาณที่ขาดดุล โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 232.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 209.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี แบ่งออกเป็น 1.รายจ่ายประจำ 197.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี และ 2.รายจ่ายลงทุน 11.5 พันล้านบาท ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 31.0 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาลพบว่ารัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 179.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.0 ต่อปี ส่งผลให้ดุลงบประมาณขาดดุล -54.2 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย

ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้า พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -7.4 ต่อปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัวจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ยังอ่อนแอ และทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 58 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -5.5 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -9.5 ต่อปี และทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 58 มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ -11.2 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือน พ.ย.58 เกินดุลเล็กน้อยที่ 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 85.8 สำหรับภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -26.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.8 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับยางพารา และปาล์มน้ำมันที่หดตัว เป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือน พ.ย.58 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.5 แสนคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี จากปัจจัยการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า และราคาเนื้อสัตว์ เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี

สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ต.ค.58 อยู่ที่ระดับร้อยละ 43.8 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน พ.ย.58 ที่อยู่ในระดับสูงที่ 155.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ