"MPI ทั้งปี 58 เราคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 0.0% ส่วนปี 59 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5%" นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สศอ.กล่าว
ส่วนอัตราการใช้กำลังผลิตในเดือน พ.ย.58 อยูที่ 63.16% ลดลงจาก 64.09% ในเดือน พ.ย.57
"อัตราการใช้กำลังผลิตช่วง 11 เดือนของปี 58 เฉลี่ยที่ 64% ส่วนอัตราการใช้กำลังผลิตเฉลี่ยทั้งปี 59 เราคาดว่าจะอยู่ที่ 66-67%"นายวีรศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมช่วง 9 เดือนแรกของปี 58 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.9% และทั้งปี 58 คาดว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 0-1% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมในปี 59 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5-2.5%
"GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 58 น่าจะอยู่ที่ 0.5% ส่วนปี 59 เราคาดว่าจะอยู่ที่ 2.0%"นายวีรศักดิ์ กล่าว
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า GDP ภาพรวมเศรษฐกิจช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 58 ขยายตัว 2.9% จากการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูง และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ สศอ.เชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะได้รับปัจจัยสนับสนุนในปี 59 จากแรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ รวมถึงการทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออก โดยคาดว่าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวดีในปีหน้า ได้แก่ รถยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และเซรามิก
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าในปี 59 จะมียอดการผลิตประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้น 10% ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะเติบโตอย่างมากในไตรมาส 3 ของปี 2559 ส่วนอุตฯ อาหารจะขยายตัวจากมาตรการภาครัฐ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเซรามิกจะฟื้นตัวจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงในปี 59 นั้นเริ่มจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ หลังธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ Fed ทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีสัญญาทยอยปรับอัตราขึ้นอย่างช้าๆ ในอนาคต
รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า การส่งออกสินค้ายังหดตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 58 ขยายตัว 0.9% ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ(สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าหรือเท่ากับ 60% ของผลผลิตรวม) อาทิ การกลั่นปิโตรเลียม การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตเพื่อการส่งออก(สัดส่วนการส่งออกมากกว่า 60% ของผลผลิตรวม) อาทิ การผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุปรับตัวลดลง
สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือน พ.ย.58 ขยายตัว อาทิ เครื่องประดับ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การกลั่นน้ำมัน และเครื่องปรับอากาศ โดยทั้งปี 58 ข้อมูลรวม 11 เดือน MPI ขยายตัวอยู่ที่ 0.23%