ครม.อนุมัติขยายวงเงินชดเชยดอกเบี้ยรวม 589 ลบ.เพิ่มปริมาณเก็บสต็อกข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 29, 2015 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติให้ขยายวงเงินชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกปีการผลิต 2558/59 อีก 204 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 589 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเป้าหมายการเก็บสต็อกจาก 3 ล้านตัน อีก 1.60 ล้านตัน รวมเป็น 4.60 ล้านตัน เป็นการดูดซับปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.59 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบนอีกประมาณ 4.64 ล้านตัน คาดว่าจะส่งผลให้ราคาตลาดข้าวเปลือกเจ้ามีเสถียรภาพ

สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ก.ย.58 อนุมัติให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรเพื่อเก็บสต็อกข้าว เพื่อเป็นการดึงอุปทานข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 ออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เป้าหมาย 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินชดเชย 385 ล้านบาท ซึ่งจากการดำเนินการมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการ 301 ราย รวม 43 จังหวัด วงเงินชดเชยประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี คณะอนุกรรมการชดเชยดอกเบี้ยฯ จึงได้จัดสรรวงเงินให้ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการในอัตราร้อยละ 30 ภายในวงเงินที่ได้รับอนุมัติ และผลการตรวจสอบสต็อกในช่วงปลายเดือน พ.ย.58 มีการเก็บสต็อกตามโครงการฯ แล้วทั้งสิ้น เป็นข้าวเปลือก 2.309 ล้านตัน ข้าวสาร 0.095 ล้านตัน

ทั้งนี้ ผลการดำเนินการโครงการฯ และการตรวจสอบสต็อกในช่วงปลายเดือน พ.ย.58 ของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ส่งผลให้ราคาตลาดข้าวเปลือกหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงต้นเดือน พ.ย.58 จาก 10,200 – 13,000 บาท เป็นตันละ 11,400-14,500 บาท

นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2558/59 ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ (1) การจัดตลาดนัดข้าวเปลือก เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันและสร้างความเป็นธรรมในการจำหน่ายข้าวเปลือกให้เกษตรกร (2) ขอความร่วมมือผู้ส่งออกรับซื้อข้าวหอมมะลิในราคาที่เหมาะสม (3) การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาขายข้าวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย เช่น จีน ฮ่องกง อิหร่าน และฟิลิปปินส์ แล้วนำผู้แทนการค้าจากต่างประเทมาเจรจาซื้อขายข้าวในไทย และ (4) การจำหน่ายข้าวรูปแบบ G to G ดำเนินการโดย ธ.ก.ส. ได้แก่ (1) มาตรการชะลอการจำหน่ายข้าวเปลือกนาปี (2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกร และ (3) การลดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ