สำหรับเป้าหมายการดำเนินการในปี 59 จะมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 กำหนดจ่ายไฟฟ้าในเดือนม.ค.59 , โรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา ในลาว เครื่องที่ 3 เดือนมี.ค.59 ขณะเดียวกันจะปลดโรงไฟฟ้าขนอม 748 เมกะวัตต์ ออกจากระบบ และนำเข้าโรงไฟฟ้าขนอมใหม่ เดือนมิ.ย.59 และยังมีโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ซึ่งใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียนเข้ามาด้วย
นอกจากนี้ กฟผ. มีการลงทุนขยายกำลังผลิตและระบบส่งของ กฟผ. ช่วง 5 ปี คือ ปี 59 -63 กำหนดไว้ที่ 668,276 ล้านบาท อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ทดแทนหน่วย 4-7 โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โครงการโรงไฟฟ้าเทพา 1 และ 2 และโครงการระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าใหม่ และโรงไฟฟ้าหมุนเวียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการพัฒนากำลังผลิตของ กฟผ. ได้ออกแบบโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมการปล่อยมลภาวะเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชน
ส่วนในปี 58 ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในระบบของกฟผ. อยู่ที่ 27,346 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.58 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.5% การใช้พลังงานไฟฟ้าในปี 58 การผลิตและซื้อพลังงานไฟฟ้ารวม 182,446 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 2.8% มีสัดส่วนการผลิตพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ 69% ถ่านหิน 20% พลังน้ำ 8% พลังงานทดแทน 2.4% และอื่นๆ 0.6%
ทั้งนี้ การใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตั้งแต่ประมาณกลางปี 58 ชี้ให้เห็นทิศทางเศรษฐกิจและการใช้พลังงานที่เริ่มฟื้นตัว และผลจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ประกอบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำลดลงจากปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยมาก ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในปี 58 ปรับลดลงได้เพียง 22.62 สตางค์/หน่วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เชื้อเพลิงเป็นปัจจัยสำคัญต่อราคาค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยังได้ประกาศปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ตั้งแต่เดือนพ.ย.58 เป็นต้นมา โดยปรับลดค่าไฟฟ้าลงอีก 1.05 สตางค์/หน่วย