อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาทยอยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเม.ย. 2558 หลังจากธปท. มีการผ่อนคลายเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนและกนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหนือความคาดหมายของตลาด ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ก็ทยอยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินหยวนและสกุลเงินในภูมิภาคก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าด้วยเช่นกัน
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 ม.ค. 2559) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.90-36.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาปัจจัยบวกของเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ การจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิต-ภาคบริการเดือนธ.ค. ยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนพ.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจจับตาบันทึกการประชุมเฟด (เมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค. 58) ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการในเดือนธ.ค. ของหลายๆ ประเทศ และอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของไทย