คลัง เตรียมเสนอแนวทางปรับโครงสร้างภาษีต่อ"สมคิด" รองรับนโยบายการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 1, 2016 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลกำหนดให้ปี 59 ในวันที่ 4 ม.ค.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมประชุมร่วมกับผู้บริหารการกระทรวงการคลัง หารือเกี่ยวกับแนวทางปรับโครงสร้างภาษี เป็นปีแห่งการลงทุน เพื่อมอบนโยบายให้กับหลายหน่วยงาน หลังจากกระทรวงการคลังดึงเอสเอ็มอีเข้าระบบโดยไม่ติดตามภาษีย้อนหลัง เพื่อใช้ระบบบัญชีแจ้งกับกรมสรรพากรเล่มเดียวกับการยื่นขอกู้สถาบันการเงิน จึงต้องการส่งเสริมให้เอกชนขยายการลงทุน ด้วยการนำค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ภายใน 31 ธันวาคม 2559 เช่น เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะ และอาคารถาวร โดยไม่รวมที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย นำมาหักค่าเสื่อมราคาได้ 2 เท่าภายในปี 59

การออกมาตรการเร่งรัดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ จึงได้ปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนการเข้าร่วมลงทุนโครงการ PPP จากเดิมที่ใช้เวลา 25 เดือน ให้เหลือ 9 เดือน เพราะต้องเดินหน้าลงทุน 6 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ในครึ่งแรกของปี 59 รวมทั้งการเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอนาคตของไทย (New Growth Engine) ด้วยการให้สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10-15 การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน และดอกเบี้ยเงินกู้ ผ่านกองทุนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันวงเงิน 10,000 ล้านบาท การหักค่าใช้จ่ายจากการวิจัยและพัฒนาได้ 3 เท่า ในช่วงปี 58-62 รวมถึงการดึงระดมทุนผ่านกองทุน Thailand Future Fund วงเงิน 100,000 ล้านบาท รองรับการสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ กำหนดตั้งให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 59 จากนั้นจะเริ่มชักชวนภาคเอกชนมาร่วมลงทุน

สำหรับการดูแลบูคคลธรรมดา ได้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเหลือร้อยละ 15 และยังเตรียมพิจารณาภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประชาชนทั่วไปจากปัจจุบันเพดานอยู่ที่ร้อยละ 35 แบบขั้นบันได 7 ขั้น เพื่อลดภาระให้กับประชาชนและให้สอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน และยังเตรียมหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำร่าง พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นำกลับมาพิจารณา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและนำรายได้จากทรัพย์มาพัฒนาประเทศ รวมถึงภาษีสิ่งแวดล้อม บนสมมติฐานผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้สร้างมลภวาะต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องรับภาระในการบำบัดของเสีย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่กระทรวงการคลังเป็นห่วงและกังวงมากที่สุด คือปัญหาภัยแล้ง เพราะในปี 59 นี้ จะมีปัญหาภัยแล้งหนักสุดในรอบหลายปี แต่เกษตรกรชาวนาหลายพื้นที่ยังปลูกข้าวนอกฤดูเป็นจำนวนมาก และภัยแล้งดังกล่าวจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม จึงต้องเตรียมมาตรการเอาไว้ช่วยดูแล เช่น ส่งเสริมให้เอกชนออกไปดูแลเกษตรกรให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย การรณรงค์ส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรม โรงแรม มุ่งประหยัดน้ำ เพราะปัญหาภัยแล้งในปี 59 นี้ จะสร้างภาระทางการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ