ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอว่าประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Anti-Pafic Group on Money Laundering – APG) ตั้งแต่ปี 2544 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2544 ประเทศไทยในฐานะสมาชิกมีพันธกรณีที่ต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
โดยประเทศไทยมีกำหนดเข้ารับการประเมินรอบที่ 3 ในรอบปี 2559 จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายให้เป็นมาตรฐานสากล โดยเพิ่มหลักเกณฑ์ในการควบคุมเงินตามที่เป็นเงินบาทขาเข้าประเทศ และกำหนดมาตรการควบคุมตราสารทางการเงินผ่านแดน รวมทั้งบทกำหนดโทษการฝ่าฝืนร่างพระราชบัญญัติและอนุบัญญัติที่ออกตามร่างพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีอำนาจในการตรวจค้น ยึด หรืออายัดสิ่งของดังกล่าวได้ ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อาจส่งผลให้ประเทศไทยไม่ผ่านการประเมินดังกล่าว
"ประเทศไทยจะต้องแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อจะได้จัดส่งรายงานให้ FATF ภายในเดือนพฤษภาคม 2559 และพร้อมสำหรับการประเมินรอบถัดไปในเดือนพฤศจิกายน 2559" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว